แม่ท้องติดเชื้อไวรัสซิกา ต้องทำแท้งจริงหรือ ???

30 January 2016
3068 view

สถานการณ์ไข้ซิการะบาดหนักใน 20 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ หลายๆคนอาจไม่เข้าใจกับสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าว เพราะอาการที่ระบุดูเหมือนไม่รุนแรง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและเห็นภาพมากขึ้น ให้นึกถึงโรคหัดเยอรมัน หากเป้นในคนปกติไม่อันตรายรักษาได้ แต่ถ้าเป็นโรคนี้ในหญิงตั้งครรภ์ส่งผลต่อทารกในครรภ์อย่างมาก ต้องพิจารณาให้ยุติการตั้งครรภ์ (แท้งบุตร) ไวรัสซิกาก็เช่นเดียวกัน

กลุ่มประชาชนในบราซิลจะร้องขอศาลให้อนุญาตทำแท้งในกรณีติดเชื้อซิกา

นักวิทยาศาสตร์ชาวบราซิลจะขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาสามารถทำแท้งได้เนื่องจากไวรัสดังกล่าวอาจทำให้ทารกมีภาวะศีรษะลีบ (microcephaly) โดยจะทำการยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดภายในเวลาสองเดือนนี้ ซึ่งเคยร้องขอต่อศาลสำเร็จมาแล้วสำหรับโรคของทารกอีกโรคหนึ่งคือ ภาวะไม่มีสมอง (anencephaly) ในปี 2555 การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายในบราซิล ยกเว้นในกรณีจำเป็นทางสุขภาพ การถูกข่มขืนหรือกรณีที่ทารกจะเกิดมาโดยอยู่ในภาวะไม่มีสมอง

แม่ท้องติดเชื้อไวรัสซิกา ขอศาลอนุมัติทำแท้งไม่ผิดกฎหมาย
ภาวะสมองเล็กจากแม่ติดเชื้อไวรัสซิกา ขณะตั้งครรภ์

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าในปีนี้อาจมีผู้ติดเชื้อซิกามากถึงสามถึงสี่ล้านคนในทวีปอเมริกาใต้ บราซิลเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสซิกามากที่สุด โดยเกิดกรณีทารกศีรษะลีบ 270 รายที่ได้รับการยืนยันจากกระทรวงสาธารณสุขและมีอีก 3,448 รายที่กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ

เดบอรา ดินิซ อาจารย์สอนกฎหมายจากมหาวิทยาลัยบราซิเลียบอกกับบีบีซีว่าโรคนี้ส่งผลกระทบต่อคนจนมากกว่าคนรวย “ตอนนี้เรามีผู้หญิงที่กลัวการตั้งท้องและไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างการตั้งท้อง เวลาเราพูดถึงสิทธิในการทำแท้งและการเจริญพันธุ์โดยทั่วไป พึงตระหนักว่าเรามีการแบ่งแยกชนชั้นอย่างมากในบราซิล ผู้หญิงรวยสามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย ไม่ว่าถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ส่วนผู้หญิงจนจะไปที่ผิดกฎหมายหรือไม่ก็อุ้มท้องต่อไป”
เมื่อติดเชื้อไวรัสซิกา คนส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการแต่อาจส่งเชื้อต่อไปยังลูก ขณะนี้ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน แต่หน่วยงานด้านสุขภาพในสหรัฐฯ คาดว่าจะเริ่มการทดสอบวัคซีนกับมนุษย์ได้ภายในสิ้นปี 2559 นี้

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ดร.มาร์กาเร็ต ชานกล่าวว่าไวรัสซิกาได้ยกระดับจากการเป็นภัยคุกคามธรรมดากลายเป็นภัยคุกคามที่น่าตกใจ เธอได้จัดตั้งคณะทำงานฉุกเฉินเพื่อเฝ้าติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ ซึ่งจะประชุมกันในวันจันทร์เพื่อพิจารณาว่าควรถือเรื่องนี้เป็นกรณีฉุกเฉินระดับโลกหรือไม่ ครั้งล่าสุดที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินระดับโลกคือการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาในแอฟริกาตะวันตกที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 11,000 คน

ในเดือนพฤษภาคม 2558 องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีคนติดเชื้อประมาณ 500,000 ถึง 1.5 ล้านคนในบราซิล และเชื้อได้แพร่ระบาดไปมากกว่า 20 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้

เรียบเรียงโดย :  Mamaexpert  Editorial Team
ขอบคุณข้อมูล : บีบีซีไทย – BBC Thai