โรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์
6 อาการเตือนโรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- จุกเสียด แน่นท้อง ปวดท้อง
- มีอาการบวมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาทิ มือ ขา แขน เท้า และใบหน้า
- คุณแม่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากเกินไป หรือ มีน้ำหนักตัวน้อยเกินไป
- ปวดศีรษะบ่อย ตาพร่ามัว
- ลูกไม่ดิ้น หรือ ดิ้นน้อยลงเมื่ออายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์
ตลอดช่วงระยะเวลาอายุครรภ์ที่คุณแม่ต้องอุ้มท้องลูกน้อยนั้น สามารถเกิดอันตรายได้ตลอดเวลา และภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงระหว่างตั้งครรภ์ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของมารดาและทารก ซึ่งอาจร้ายแรงจนถึงขั้นมีโอกาสเสียชีวิตได้ เราจึงควรให้ความสนใจเพื่อการเฝ้าระวังวางแผนการป้องกัน และแก้ไขได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้ ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ได้แก่
ครรภ์เป็นพิษโรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์
เป็นภาวะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ มีความดันโลหิตสูง (มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท) ร่วมกับมีโปรตีนไข่ขาวออกมาในปัสสาวะ จะทำให้ มีอาการบวมที่หน้า มือ ขา เท้า บางคนปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจชัก เส้นเลือดในสมองแตก อาจทำให้เสียชีวิต เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย ทั้งนี้สาเหตุ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักพบในคุณแม่อายุมากกว่า 35 ปี หรือน้อยกว่า 20 ปี ตั้งครรภ์แฝด คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาควบคุมความดัน ยาป้องกันการชัก ยุติการตั้งครรภ์ในเวลาที่เหมาะสม เฝ้าระวังด้วยการตรวจวัดความดันและตรวจปัสสาวะสม่ำเสมอ
ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy)โรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์
เป็นความผิดปกติ ระหว่างปฏิสนธิ ไม่ได้เป็นตัวอ่อนแต่กลายเป็นถุงน้ำเล็กๆ มีลักษณะเหมือนไข่ปลาจำนวนมาก อยู่ในถุงน้ำ เนื่องมาจากไข่ของฝ่ายหญิงไม่มีโครโมโซมเพศ ทำให้มีอาการเลือดออกทางช่องคลอด ตกเลือด และอาจช็อกหมดสติ ทั้งนี้สาเหตุ ยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงจาก สตรีตั้งครรภ์อายุมาก สูบบุหรี่ ตั้งครรภ์แรก เป็นต้น รักษา ด้วยการให้ยุติการตั้งครรภ์ ด้วยการใช้เครื่องดูดออกหรือขูดมดลูก
ภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta Previa)โรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์
เป็นภาวะที่รกเกาะอยู่ในตำแหน่งผิดปกติ มีบางส่วนของรกปิดบริเวณปากมดลูก ซึ่งโดยปกติรกจะเกาะที่ส่วนบนของมดลูก ทำให้มีการเสียเลือด มีเลือดออกทางช่องคลอด ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงเกิดได้จากมารดาอายุมากกว่า 35 ปี เคยขูดมดลูก เคยผ่าตัดเนื้องอกมดลูก ตั้งครรภ์แฝด ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ โดยสามารถทำการรักษาได้ ถ้าหากเลือดออกไม่มาก ให้พักผ่อน งดทำงานหนัก ให้ธาตุเหล็ก อาจต้องผ่าตัดทำคลอดในขณะที่อายุครรภ์ยังไม่ครบ
เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ อีกหนึ่งโรคอันตรายระหว่างตั้งครรภ์
เป็นภาวะที่มารดาตั้งครรภ์มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยที่ไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน เนื่องจากฮอร์โมนจากรกมีฤทธิ์ต้านการทำงานของอินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ตามปกติ มีผลทำให้ ทารกมีรูปร่างอ้วนใหญ่ คลอดยาก เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด บางรายทำให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกน้อยลง ทารกตัวเล็กกว่าปกติ อาจเสียชีวิตในครรภ์ ทั้งนี้ มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ มารดามีน้ำหนักเกินก่อนตั้งครรภ์ เป็นเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ เคยคลอดบุตรน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม มีความดันโลหิตสูง มีญาติเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งการรักษาที่ทำได้ ก็คือ การควบคุมอาหาร การให้อินซูลิน ตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือด
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าตั้งครรภ์ เพื่อสุขภาพของทารกในครรภ์ เพราะการฝากครรภ์แต่ละครั้ง สูติแพทย์จะทำการตรวจสุขภาพตามอายุครรภ์ หากพลาดนัดก็เท่ากับว่า คุณพลาดโอกาสสำคัญที่แพทย์จะต้องตรวจในช่วงอายุครรภ์นั้นๆ เพราะการตรวจบางอย่างเมื่ออายุครรภ์เกินไปแล้ว ไม่สามารถตรวจได้ เพราะฉะนั้นการไปฝากครรภ์ตามนัดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องใส่ใจให้มากที่สุดค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
1. อันตรายของภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์
2. สุกใสในหญิงตั้งครรภ์ อันตรายกว่าที่คิด
3. ตกขาวขณะตั้งครรภ์อันตรายหรือไหมและรักษาอย่างไร
เรียบเรียงโดย : Mama Expert Editorial Team