การกินและน้ำหนักของลูก
การเลี้ยงลูกกว่าจะโตมาได้นั้นคุณแม่อย่างเราต้องผ่านอะไรมาเยอะ เหน็ดเหนื่อยอย่างมีความสุขก็จริงแต่หลายครั้งก็แอบหวั่นใจอยู่ไม่น้อย ว่า … การเลี้ยงลูกในแบบฉบับของเราที่ทำมาตลอดนั้น ถูกต้องหรือไม่อย่างไร และจากการสำรวจพบว่า เรื่องการเจริญเติบโตทางร่างกายของลูก ส่งผลต่อความเครียดของแม่มากติดอันดับเช่นกัน เพราะคุณแม่หลายๆคน ใช้รูปร่างอันอวบอ้วน จ้ำม่ำ หรือ ผอม ตัวเล็ก และตัวเลขของน้ำหนักเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการเลี้ยงดู ซึ่งไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะนอกจากน้ำหนักตามเกณฑ์แล้ว ต้องวัดกันด้านสุขภาพด้วยค่ะ
เพื่อความเข้าใจถูกต้อง เกี่ยวกับการกินและน้ำหนักของลูก วันนี้ mamaexpert ได้นำ 7 ข้อข้องใจ ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการกินและน้ำหนักของลูก โดย พญ. กัลย์สุดา อริยะวัตรกุล อาจารย์ กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ มาฝากคุณพ่อคุณแม่ ดังนี้ค่ะ
1. ลูกกินยาก น้ำหนักน้อย แปลว่าพ่อแม่เลี้ยงไม่ดี
ซึ่งไม่เกี่ยวกัน เพราะตามธรรมชาติของเด็กอายุ 1 ขวบเป็นต้นไป จะสนใจการกินน้อยลง ห่วงเล่นมากกว่ากิน เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ดื้อ เลือกที่จะกินหรือไม่กินอาหารบางอย่าง หรือชอบอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการปกติตามวัย
2. อ้วน = แข็งแรง หรือ ผอม = ขี้โรค
หลายครอบครัวได้รับการปลูกฝังค่านิยมที่ผิดๆ มองว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กน่ารักและแข็งแรง ส่วนเด็กที่ผอมหรือน้ำหนักปกติ กลายเป็นเด็กขี้โรค ซึ่งสองอย่างนี้ไม่เกี่ยวข้องกันเลย หมอเจอเด็กอ้วนบางคนก็ป่วยบ่อยมาก ทั้งภูมิแพ้ หอบหืด ตรงกันข้ามกับเด็กที่ผอม หรือน้ำหนักปกติ มักจะแข็งแรง ไม่ค่อยป่วยเท่าไหร่
3. เข้าใจผิดว่าลูกน้ำหนักน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ปัจจุบันในบ้านเรามีเด็กอ้วนเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เด็กที่น้ำหนักปกติถูกเปรียบเทียบ กลายเป็นเด็กผอมเกินไป พ่อแม่เลยพยายามยัดเยียดเรื่องกินให้เด็กมากขึ้น
4 ลูกไม่กิน แปลว่าผิดปกติ
ปัญหาลูกกินยากเป็นเรื่องที่เจอกันแทบทุกบ้าน และจากรายงานการวิจัยพบได้ถึง 30-40% ในช่วงวัย 1-3 ขวบ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามวัย ไม่ใช่จะติดนิสัยไปจนโต
5. เปรียบเทียบการกินของลูกกับเด็กคนอื่น
แม้ว่าจะน้ำหนักเท่ากัน แต่ … เด็กแต่ละคนอาจกินอาหารได้มากน้อยต่างกัน ขึ้นกับอัตราการใช้พลังงาน การย่อย การดูดซึม ของเด็กแต่ละคน และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ เป็นเรื่องปกติที่เด็กอาจกินน้อยเป็นบางมื้อหรือบางวัน ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น หลังวิ่งเล่นหรือออกกำลังกายเหนื่อยๆ อาจจะกินได้มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าเจ็บป่วยหรือไม่สบาย ก็อาจทำให้เบื่ออาหารไปชั่วคราวได้เช่นกัน
6. คาดหวังมากเกินว่าลูกจะกินหมด
จากการศึกษาวิจัยพบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ จะตักอาหารให้ลูก ในปริมาณมากกว่าที่ร่างกายของลูกต้องการจริงๆ เมื่อเด็กกินไม่หมด ทำให้พ่อแม่กังวลและพยายามยัดเยียด
7. ใช้วิธีดุว่า บังคับ หรือลงโทษ เพื่อให้ลูกกินมากขึ้น
ยิ่งพ่อแม่กังวล พยายามกดดันให้ลูกกินเยอะๆ ยิ่งสร้างความเครียด เด็กยิ่งต่อต้านการกินและไม่รู้สึกหิวเมื่อถึงมื้ออาหารเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้น เช่น อมข้าว ใช้เวลานานในการกินข้าวแต่ละมื้อ กินไปเล่นไป หรือแม้แต่อาเจียน ซึ่งยิ่งทำให้พ่อแม่เครียดและกังวลมากขึ้น เท่ากับเพิ่มปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญได้ไขข้อข้องใจ และแนะนำเกี่ยวกับการกินและน้ำหนักของลูกรัก ให้คุณพ่อคุณแม่คลายกังวลกันแล้ว อย่าลืมนำไปปฎบัติให้ถูกต้องเหมาะสมนะคะ
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. เคล็ดลับช่วยเพิ่มความสูงตามวัย
2. ความสูงลูกตกเกณฑ์ เพราะฮอร์โมนการเจริญเติบโตบกพร่อง
3. 10 วิธีเลี้ยงลูกให้ฉลาดและมีวิทยาศาสตร์รองรับ
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
ขอบคุณข้อมูล
: พญ. กัลย์สุดา อริยะวัตรกุล อาจารย์ กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ
: เพจ Hormone for Kids by Dr.OrN