ถุงยางอนามัยสตรี
ถุงยางอนามัยสตรี คืออะไร
ถุงยางผู้หญิง หรือ ถุงยางอนามัยผู้หญิง หรือ ถุงยางอนามัยสตรี (Female condom) เป็นอุปกรณ์ที่มีไว้ใช้สำหรับสอดเข้าไปภายในช่องคลอดของสตรีก่อนที่จะเริ่มมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกโดยลักษณะของถุงยางอนามัยสตรีจะมีความยาว 6.5 นิ้ว หรือยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ที่ปลายถุงทั้งสองด้านมีห่วงยางหรือวงแหวนยืดหยุ่น 2 วง ห่วงจะมีลักษณะแข็งกว่าส่วนอื่น มีไว้เพื่อให้เกิดความกระชับและเพื่อให้คงรูปร่างไว้ได้ในขณะใช้งาน ปลายถุงด้านหนึ่งตันเพื่อใช้สอดเข้าไปในช่องคลอด ส่วนปลายถุงอีกด้านหนึ่งจะเป็นปลายเปิด ยื่นออกมานอกช่องคลอด ภายในถุงยางจะมีน้ำยาหล่อลื่น แต่ไม่มียาฆ่าเชื้ออสุจิ
ถุงยางอนามัยสตรี มีประโยชน์อย่างไร
ถุงยางอนามัยสตรีสามารถใช้คุมกำเนิดและช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ ได้ เช่น เอดส์ ซิฟิลิส หนองใน เป็นต้น ซึ่งการคุมกำเนิดโดยใช้วิธีนี้จะดีกว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด การทำหมัน
ถุงยางอนามัยสตรี มีขั้นตอนการใส่อย่างไร
- ล้างมือให้สะอาด
- จัดท่าให้เมาะสมกับการใส่ ปกติจะใช้ท่านอนหงายชันเข่า หรือท่านั่งยองๆ
- เมื่อแกะออกจากซอง ให้ตรวจดูว่าวงแหวนภายในอยู่ที่ก้นถุง
- ใช้มือข้างที่ถนัด จับวงแหวนภายในจากภายนอกของถุงยาง ซึ่งอยู่บริเวณก้นถุงด้วยนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางบีบเข้าหากันเป็นวงรี ขณะเดียวกันให้วางนิ้วชี้ทาบไปบนวงแหวน ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลาง เพื่อช่วยในการสอดใส่เข้าช่องคลอด โดยปล่อยปลายเปิดซึ่งติดกับวงแหวนภายนอกให้ห้อยลง
- ใช้นิ้วมืออีกข้างแยกปากช่องคลอดให้เปิดออก จากนั้นสอดวงแหวนภายใน ที่อยู่ในก้นถุงเข้าสู่ช่องคลอด
- ใช้นิ้วชี้ของมือข้างที่ถนัด สอดผ่านปลายเปิดเข้าไปดันวงแหวนภายใน จากภายในถุงโดยตรงให้เข้าไปในช่องคลอดให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้
- เมื่อสอดใส่วงแหวนภายนอกจะอยู่ภายนอกช่องคลอด และอาจอยู่ห่างช่องคลอด ประมาณ 1 นิ้ว เมื่อมีการร่วมเพศ ช่องคลอดจะยืดขยายตัวทำให้ส่วนของถุงที่ยื่นออกมาหดสั้นลง จนวงแหวนภายนอกชิดกับปากช่องคลอดได้
- ขณะสอดอวัยวะเพศชายเข้าช่องคลอด หญิงอาจช่วยโดยใช้มือจับวงแหวนภายนอกให้ชิดกับปากช่องคลอด เพื่อป้องการสอดเข้าด้านข้างของถุงยาง
- หลังการร่วมเพศ ให้เอาถุงยางอนามัยสตรีออกจากช่องคลอด ก่อนลุกนั่งหรือยืน โดยหมุนวงแหวนภายนอกเพื่อไม่ให้น้ำอสุจิไหลออกจากปลายเปิด จากนั้นจึงค่อยดึงออกจากช่องคลอดอย่างนุ่มนวล ตรวจดูสภาพว่าไม่ชำรุด จากนั้นก็ห่อกระดาษแล้วนำไปทิ้งถังขยะให้มิดชิด
- ถ้าจะร่วมเพศอีกครั้งก็ต้องใช้อันใหม่
ถุงยางอนามัยสตรีเหมาะกับใคร
- ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวหรือแบบฉุกเฉินโดยที่ไม่ได้กินยาคุมกำเนิดมาก่อน
- เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้หรือรู้สึกไวต่อถุงยางอนามัยแบบลาเทกซ์
- เหมาะสำหรับสตรีที่ตัวเองมีโรคหรือสามี มีโรคที่สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ เช่น เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ ติดเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส หนองใน เป็นต้น
- สตรีที่มีการคุมกำเนิดในรูปแบบอื่นอยู่แล้ว แต่อยากป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มเติมด้วย เช่น ฉีดยาคุมกำเนิด หรือรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดมาก่อนอยู่แล้ว
ถุงยางอนามัยสตรี มีข้อดีอย่างไร
ใช้คุมกำเนิดหรือป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้เช่นเดียวกับการใช้ถุงยางอนามัย เช่น ซิฟิลิส หนองใน ไวรัสตับอักเสบบี เอดส์ มีความปลอดภัย ไม่มีผลต่อสุขภาพไม่มีผลข้างเคียง ทำให้คุณผู้หญิงมีประจำเดือนมาตามปกติ
สามารถใส่และถอดได้เอง และยังมีความทนทานมากกว่าถุงยางอนามัยชายอีกด้วย สามารถใช้ร่วมกับเจลหล่อลื่นที่เป็นน้ำมันได้
เมื่อหยุดใช้ ก็สามารถมีลูกได้ทันทีโดยไม่ต้องรอค่ะ
ถุงยางอนามัยสตรี มีข้อเสียอย่างไร
- มีอัตราการล้มเหลวสูงจากการคุมกำเนิด หากใช้อย่างไม่ถูกวิธี
- ต้องใช้ทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หาซื้อได้ยาก และมีราคาแพงกว่าถุงยางอนามัยชาย
- ขั้นตอนการใส่ค่อนข้างยุ่งยากเล็กน้อย การสอดถุงยางอาจจะมีความลำบากสำหรับบางคน
- ในบางครั้งฝ่ายชายอาจสอดใส่เข้าไปผิดตำแหน่งในขณะร่วมเพศได้
- ในระหว่างการร่วมเพศอาจจะเกิดเสียงดัง จนอาจทำให้ขัดจังหวะในการร่วมเพศได้ และผู้ใช้บางรายอาจมีอาการเจ็บแสบในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย
- ในระหว่างการใช้ ถุงยางอาจหลุดเข้าไปค้างอยู่ในช่องคลอดได้
- ถุงยางอาจมีสารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง จนทำให้เกิดอาการคันได้ และในบางรายอาจทำให้มีตกขาวได้ด้วย
ถุงยางอนามัยสตรีในปัจจุบันค่อนข้างจะหาซื้อได้ยากพอสมควรค่ะ เพราะถุงยางของสตรีจะไม่มีวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อเหมือนถุงยางอนามัยชาย แต่จะสามารถหาซื้อจากร้านขายยาขนาดใหญ่(บางแห่ง) ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ ราคาก็จะอยู่ประมาณชิ้นละ 150 บาท ค่อนข้างมีราคาแพง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการป้องกันและคุมกำเนิดให้กับคุณผู้หญิงค่ะ
บทความแนะนำเพิ่มเติม
1. ถุงยางอนามัยชาย ใช้อย่างไร ยี่ห้อไหนดี
3. ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับการเป็นหมันในผู้ชาย
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team
ขอบคุณข้อมูลจาก : Medthai.com