โรคส่าไข้
อาการส่าไข้หรือ โรคหัดกุหลาบเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อว่า Human Herpesvirus 6 (HHV-6) ใน ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดเกี่ยวกับเชื้อโรคชนิดนี้ แต่พบหลักฐานเชื้อโรคชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่ในน้ำลายของคน ความชุกของโรค พบในเด็กเล็กช่วงอายุ 6-24 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่ระดับภูมิคุ้มกันจากแม่เริ่มลดลงและพบว่ามากกว่า 90% ของเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปีมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้แล้วแสดงว่าเด็กบางคนได้รับเชื้อโดยไม่แสดงอาการชัดเจน พบโรคนี้ได้ตลอดทั้งปี ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 5-15 วันหลังจากได้รับเชื้อ
โรคส่าไข้ มีอาการอย่างไร
- ไข้สูงเฉียบพลัน 39.4 – 41.2 องศาเซลเซียส ( 103 – 106°องศาฟาเรนไฮต์ )
- ไข้นาน 3-4 วัน ช่วงที่มีไข้สูงเด็กอาจมีอาการชักจากภาวะไข้สูง คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง
- ทารกบางรายตรวจพบกระหม่อมศีรษะโป่งตึงกว่าปกติ ทำให้หมอต้องวินิจฉัยแยกโรคจากเยื่อหุ้มสมองหรือโรคไข้สมองอักเสบ
- ทารกมีไข้สูงแต่สามารถเล่นได้ ไม่ซึมต่างจากไข้ทั่วไป
- และหากมีการเจาะน้ำไขสันหลังตรวจ จะพบว่าผลเป็นปกติ หรืออาจมีเซลเม็ดเลือดขาวเล็กน้อย
- อาการอื่นๆทีพบได้ น้ำมูกเล็กน้อย เจ็บคอ ทานได้น้อย ถ่ายเหลว หนังตาบวม ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ตรวจร่างกายอาจพบ คอแดงและเยื่อแก้วหูแดงเล็กน้อย
- วันแรกที่ไข้เริ่มลดลง จะตรวจพบผื่นแดงมีลักษณะเรียบ และนูน ขานเส้นผ่าศูนย์กลางประาณ 1 – 5 ซม. ส่วนมากขึ้นตามลำตัวและลามไปที่ขาและบริเวณอื่นๆเล็กน้อย เช่น ใบหน้า มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เด็กจะไม่มีอาการคัน
- ผื่นจะจางหายไปภายใน 3- 4 วันหลังไข้ลดแล้ว และเด็กสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ จึงเป็นที่มาของคำว่า ส่าไข้ เพราะมีผื่นขึ้นหลังจากไข้ลด
การวินิจฉัยโรคส่าไข้
กุมารแพทย์ จะวินิจฉัยโรคตามอาการและอาการแสดงเป็นหลัก เนื่องจากการวินิจฉัยที่แน่นอนทำโดยการตรวจพบเชื้อไวรัสในเลือดหรือน้ำลาย หรือการตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นจากเลือดยังไม่มีที่ใช้โดยทั่วไป เป็นเพียงการวิจัยเท่านั้น หากมีการตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดพบว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวอยู่ในเกณฑ์ปกติเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป
โรคส่าไข้ มีภาวะแรกซ้อนหรือไม่
ภาวะแทรกซ้อนพบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่พบในเด็กที่ปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ อาการปอดอักเสบ ตับอักเสบ สมองอักเสบ หรือความผิดปกติของระบบเลือดเช่น จำนวนเม็ดเลือดและจำนวนเกล็ดเลือดต่ำลง หากลูกมีการชักจากไข้สูง ซึมลง ทานอาหารหรือนมได้น้อย ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล
โรคส่าไข้ รักษาอย่างไร
- ส่าไข้ เป็นโรคที่หายได้เองไม่มีอาการซับซ้อน จึงเป็นการรักษาตามอาการ
- ให้รับประทานยาลดไข้ยาลดไข้ ยากันชัก (ในรายที่มีความเสี่ยงภาวะชักจากไข้สูง)
- ดูแลทารกไม่ให้เกิดอาการท้องเสีย เพราะท้องเสียทำให้ขาดน้ำและพลังงาน
- ส่าไข้ ไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส ยกเว้นรายที่มีอาการรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อน
โรคส่าไข้ ป้องกันได้หรือไม่
โรคส่าไข้ สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำลายของผู้เป็นโรคทั้งทางตรงและทางอ้อม (โดยจับสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสติดอยู่แล้วเอามือเข้าปาก)
โรคส่าไข้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ต้องระวังภาวะขาดน้ำและชักจากไข้สูง หมั่นเช็ดตัวลดไข้ และรับประทานยาตามเวลาเพื่อป้องกันการชักของลูกน้อย เมื่อพบว่าลูกไม่สบายหรือมีอาการผิดปกติคุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที
บทความแนะนำเพิ่มเติมสำหรับคุณแม่
1. 5 โรคอันตรายในเด็กที่ต้องเฝ้าระวัง
3. โรคร้ายที่พบในเด็กแต่ละช่วงวัย ที่แม่ควรรู้
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team