น้ำหนักแม่ตั้งครรภ์
การเพิ่มน้ำหนักแม่ตั้งครรภ์เป็นอย่างไร
เชื่อว่าหลาย ๆ คนเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ มีความคิดฝุดขึ้นมาทันทีว่า ต้องบำรุงครรภ์อย่างหนัก บำรุงเยอะๆลูกจะได้เเข็งแรง กระหน่ำดื่มนมแทบจะแทนน้ำเลยก็ว่าได้ เพียงเพราะกลัวลูกไม่สมบูรณ์แข็งแรง ว่าที่คุณแม่ทราบหรือไม่ การ กระหน่ำกินของมีประโยชน์ในปริมาณมากเกินควร เป็นการทำร้ายลูกในท้องและตัวคุณเองแบบคาดไม่ถึง เพราะลูกอาจมีน้ำหนักตัวมากเกินจนคลอดยาก ทารกกลายเป็นเบาหวาน โรคทางเมแทบอลึซึมที่น่ากลัวมาก หรือแม่กระหน่ำดื่มนมลูกอาจแพ้โปรตีนจากนมได้ และที่สำคัญ คุณแม่กลายเป็นโรคแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์มากมายได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอ้วนหลังคลอดได้ ขณะตั้งครรภ์หากแม่น้ำหนักตัวมากอาจต้องผ่าตัดคลอด อ่านมาถึงบรรทัดนี้หลายคนมีคำถาม …แล้วน้ำหนักที่ดีงาม พอเหมาะพอควร แต่ละไตรมาสควรเป็นเท่าไหร่กัน???
ตามหลักความจริง และ จะกะเกณฑ์ให้เป๊ะ ๆ เลยก็ไม่ได้ เนื่องจากโครงร่าง สรีระของแม่ตั้งครรภ์ มีความแตกต่างกันออกไป ทางการแพทย์จึงมีคำแนะนำในการควบคุมน้ำหนักแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรเกิน 12 – 15 กิโลกรัมตลอด 9 เดือน โดยแบ่งตามไตรมาสดังนี้
การขึ้นของน้ำหนักแม่ตั้งครรภ์แต่ละไตรมาส
- ไตรมาสแรก น้ำหนักควรเพิ่ม 1 – 1.5 กิโลกรัม
- ไตรมาสที่สอง น้ำหนักควรเพิ่ม 4 – 5 กิโลกรัม
- ไตรมาสที่สาม น้ำหนักควรเพิ่ม 5 – 6 กิโลกรัม
แม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก ไม่ได้หมายความว่าลูกจะตัวใหญ่เสมอไป หรือคิดแบบละเอียดตามสรีระโครงสร้างของคุณแม่แต่ละคน ตามหลัก Body mass index หรือ BMI โดยคิดจาก น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง
คำนวณตามหลัก BMI ตลอดการตั้งครรภ์ น้ำหนักแม่ตั้งครรภ์ควรขึ้นตามนี้
- กลุ่มคุณแม่ตัวเล็ก Low BMI < 19.8 น้ำหนักควรจะเพิ่มระหว่าง 12.5-18 กิโลกรัม
- กลุ่มคุณแม่หุ่นปกติ Normal BMI 19.8-26 น้ำหนักควรจะเพิ่มระหว่าง 11.5-16 กิโลกรัม
- กลุ่มคุณแม่ที่อวบอยู่แล้ว High BMI 26-29 น้ำหนักควรจะเพิ่มระหว่าง 7-11.5 กิโลกรัม
- กลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อ้วน BMI > 29 น้ำหนักควรจะเพิ่มประมาณ 7 กิโลกรัม
เพื่อความเข้าใจ สรุปสั้นๆ คือ น้ำหนักควรจะเพิ่มน้อยในคนที่อ้วนหรือน้ำหนักเกินอยู่แล้ว และน้ำหนักควรจะเพิ่มมากขึ้นในคนที่น้ำหนักตัวน้อยค่ะ
ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์น้ำหนักจะยังไม่ขึ้นหรือบางคนน้ำหนักลดเพราะแพ้ท้อง ก็ไม่ต้องกังวลนะคะ โดยทั่วไปน้ำหนักของคุณแม่จะเริ่มขึ้นในช่วงหลังจากไตรมาสแรก (หลังจากอายุครรภ์ 14 สัปดาห์) และจะเพิ่มมากขึ้นประมาณสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัมในไตรมาสที่ 3 (หลังจาก 28 สัปดาห์) ไปแล้ว และน้ำหนักโดยรวม ไปอยู่ส่วนไหนของการตั้งครรภ์บ้าง มาดูกันค่ะ
โดยเฉลี่ยน้ำหนักแม่ตั้งครรภ์ ที่ขึ้นตลอดการตั้งครรภ์แบ่งเป็น
- ตัวเด็ก 3000 กรัม
- รก 500 กรัม
- น้ำคร่ำ 800 กรัม
- มดลูก 900 กรัม
- เต้านม 400 กรัม
- เลือดและน้ำในร่างกายแม่ 1200 กรัม
- ไขมันและโปรตีน 5000 กรัม
หลังคลอดน้ำหนักคุณแม่จะลดลง ประมาณ 5.5 กิโลกรัมหลังคลอด ลดประมาณ 4 กิโลกรัม ในระหว่างหลังคลอด ถึงสองสัปดาห์ และลดประมาณ 2.5 กิโลกรัม ในช่วงสองถึงหกสัปดาห์หลังคลอด ดังนั้นเมื่อทราบเช่นนี้แล้ว คุณแม่ควรรับประทานให้พอเหมาะยับยั้งชั่งใจ อย่าถือโอกาสขณะตั้งครรภ์ว่าเป็นช่วงกิน อร๊อยอร่อยกินไม่ยั้ง เพราะผลที่ตามมามากมายไม่ใช่เเค่คุณแม่ แต่ส่งผลถึงสิ่งที่เรารักมากที่สุดด้วย อาจไม่เห็นผลระหว่างตั้งครรภ์โดยทันที หรือหลังคลอดเสร็จสิ้นลง แต่สามารถส่งผลต่ออานคตได้ การเดินตาม “ทางสายกลาง” ดีที่สุด น้ำหนักควรจะเพิ่มอย่างเหมาะสม ไม่มากหรือไม่น้อยเกินไป และคนที่อ้วนก็ไม่ควรจะลดน้ำหนักในช่วงที่ตั้งครรภ์เพราะลูกอาจขาดสารอาหารบำรุงสมอง และการเจริญเติบโตหยุดชะงัก ควรรับทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ท่องไว้เสมอ แม่กินอย่างไร ลูกได้อย่างนั้น นะคะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
1.แม่ท้องกินอย่างไร ให้น้ำหนักไปลงที่ลูก
2.อาหารบำรุงครรภ์ แยกตามอายุครรภ์40สัปดาห์
เรียบเรียงโดย : Mama Expert Editorial Team