ข้อห้ามคนท้อง
ข้อห้ามคนท้อง ที่เป็นประโยชน์ต่อลูกในครรภ์
ขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะครรภ์แรก คุณแม่อาจจะยังไม่ทราบหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือข้อห้ามต่างๆที่สูติแพทย์ห้ามกระทำหรือทำให้น้อยที่สุดเพื่อสุขภาพของแม่และลูกน้อย ข้อห้ามดังกล่าวมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ความเชื่อ ข้อห้ามทำขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ตลอด 9 เดือน มีดังต่อไปนี้
1.ห้ามเครียด
ขณะที่ร่างกายมีความเครียด สมองจะสั่งการไปยังต่อมแอดรินาลีน ซึ่งอยู่เหนือบริเวณไตให้หลั่งฮอร์โมนความเครียดชนิดหนึ่งออกมา นั่นคือ ฮอร์โมนคอร์ติโซล (Coltisal) ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกอยากอาหารทำให้คุณแม่ต้องรับประทานอาหารเข้าไปเป็นปริมาณมาก เครียดมากกินมาก อ้วนมาก อย่างที่เขาว่า นอกจากนี้ ฮอร์โมนคอร์ติโซล ยังสามารถเข้าไปกระตุ้นให้ปริมาณของอินซูลินและเลพตินเพิ่มขึ้น โดยอินซูลินคือฮอร์โมนที่ถูกขับออกมาในตับอ่อน ซึ่งจะส่งผลให้รู้สึกอยากอาหารอยู่ตลอดเวลา ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์น้ำหนักพรุ่งพรวดได้ นอกจากนั้นยังพบว่า คุณแม่ที่มีความเครียดสูง ทารกก็รับรู้ได้ด้วยเช่นกัน หลังคลอดพบว่าทารกมักมีพฤติกรรมเลี้ยงยาก งอแง
2.ห้ามออกกำลังกายหักโหม – ผาดโผน
ทุกไตรมาสของการตั้งครรภ์ ควรออกกำลังกายแต่พอเหมาะไตรมาสแรกหากหักโหมและผาดโผนมากเกิดแรงสั่นสะเทือนสูง ส่งผลต่อตัวอ่อนในครรภ์ อาจทำให้แท้งบุตรได้ สำหรับไตรมาสที่ 2 – 3 ออกกำลังกายหักโหม ร่างกายแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนไม่ทัน ทำให้ทารกเกิดภาวะพร่องออกซิเจนได้เช่นกัน
3.ห้ามใส่ส้นสูง
คุณแม่ตั้งครรภ์มักมาพบแพทย์ ด้วยการการปวดหลังอยู่บ่อยๆ ใครจะนึกว่าสาเหตุมาจากรองเท้าใช่ไหมคะ การที่คุณแม่ตั้งครรภ์สวมรองเท้าส้นสูง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณน่อง ต้นขา เอว และหลัง เกิดความตึงเตรียด และเกิดอาการปวดตามมา นอกจากนั้นยังพบว่า รองเท้าส้นสูงทำให้จุดศูนย์ถ่วงของแม่ตั้งครรภ์เสียสมดุลอาจทำให้ลื่นล้มแท้งบุตรได้
4.ห้ามกินยาพร่ำเพรื่อ
ข้อนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะ 12 สัปดาห์แรก เพราะเป็นช่วงก่อร่างสร้างอวัยวะที่สำคัญๆของตัวอ่อน หากกินยาที่อันตราย ส่งผลต่อความพิการของทารกในครรภ์ได้เช่นแขนขาพิการ ปากแหว่ง เพดานโหว่ โดยเฉพาะยากลุ่มลดสิว สำหรับยามัญประจำบ้านคุณแม่สามารถรับประทานได้ แต่ถ้ามีอาการรุนแรงแนะนำให้พบแพทย์เท่านั้น ข้อนี้รวมไปถึงห้ามใช้สารเคมีด้วยเช่น ฉีดยากันยุง
5.ห้ามนอนดึก
แม่ตั้งครรภ์ต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง หากนอนกลางคืนไม่เพียงพอ ในช่วงกลางวันให้คุณแม่ตั้งครรภ์งีบ สัก 1 งีบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 14 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์มีงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า แม่ตั้งครรภ์นอนน้อยกว่าคืนละ 5 ชั่วโมงเสี่ยงต่อการถูกโรคต่าง ๆ รุมเร้าตลอดการตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ในที่สุด
6.ห้ามอดอาหาร – ลดน้ำหนัก
หากคุณแม่ไม่มีข้อจำกัดทางการแพทย์ ว่าต้องจำกัดอาหาร ควรรับประทานอาหารให้ครบ และเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพราะงานวิจัยพบว่า คุณแม่อดอาหารขณะตั้งครรภ์ ทารกมีอัตราคลอดก่อนกำหนดสูง และสมองพิการได้ เนื่องจาก ในอาหาร 5 หมู่มีสารอาหารที่สำคัญต่อการบำรุงสมองทารก เช่น โฟเลตที่ได้จากผักผลไม้ และวิตามินต่างๆที่ช่วยในการสร้างอวัยวะสำคัญๆ คุณแม่ที่เกรงว่าจะอ้วน หลังคลอดแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวรับรองน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วค่ะ
7.ห้ามผิดนัดฝากครรภ์
คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องตระหนักให้มากในเรื่องความสำคัญของการฝากครรภ์ เพราะร่างกายของแม่และลูกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากพบความผิดปกติของมารดาหรือทารก แพทย์จะได้ให้การช่วยเหลือทันเวลา หากพลาดนัด ควรไปพบแพทย์ในวันถัดไป
8.ห้ามรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์
อาหารไม่มีประโยชน์ที่ว่านี้ นอกจากจะทำลายสุขภาพแม่แล้ว อาหารบางอย่างยังทำลายสมองลูกด้วย ได้แก่ แอลกอฮอล์ กาเฟอีน หวานจัด มันจัด เผ็ดจัด ดิบๆสุกๆ ของหมักดอง อาหารกระป๋อง และผงชูรส
9.ห้ามเดินทางไกลเมื่อใกล้คลอด
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้ายโดยเฉพาะคุณแม่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ขึ้นไป ควรงดเดินทางไกล เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเสี่ยงต่อการติดเชื้อ คลอดก่อนกำหนดได้ง่ายๆ
10.ห้ามดื่มนมเยอะเกินวันละ 2 แก้ว
คุณแม่หลายๆคนกระหน่ำดื่มนมเพื่อบำรุงครรภ์ตั้งแต่รู้ว่าเริ่มตั้งครรภ์ ตามหลักโภชนาการควรเริ่มดื่มนมบำรุงครรภ์เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่2 ของการตั้งครรภ์ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวทารกดึงแคลเซี่ยมจากคุณแม่ไปใช้มากขึ้นอาจทำให้คุณแม่สูญเสียเเคลเซี่ยมในร่างกายไปมากกว่าปกติ แต่… การดื่มนมวัววันละ 1 แก้ว หรือนมถั่วเหลืองวันละ 2 แก้วก็เพียงพอแล้ว ผลงานการวิจัยยังพบว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ดื่มนมมากเกินความจำเป็น ทำให้ทารกมีความเสี่ยงต่อการแพ้ได้ง่ายเช่น แพ้โปรตีนในนมวัว เป็นต้น
11.ห้ามใส่ชุดรัดแน่นพอดีตัวจนเกินไป
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมๆสบายๆ ระบายอากาศได้ดี เนื่องจากระหว่างตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกายอย่างมากโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศ ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีกลิ่นตัว กลิ่นอวัยะเพศที่แรงขึ้น การสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น ทำให้เกิดกลิ่นอับมากขึ้น และยังทำให้ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี หายใจไม่สะดวกอาจหน้ามืดเป้นลมได้
12. ห้ามสวนล้างช่องคลอดและใช้น้ำยากำจัดกลิ่น
ในระหว่างตั้งครรภ์ มีการเปลี่ยนเเปลงฮอร์โมนส่งผลให้อวัยเพศมีกลิ่นมากขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงทำการสวนล้างช่องคลอด และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่น การกระทำดังกล่าวเป็นการนำพาเชื้อโรคเข้าสู่ช่องคลอดโดยตรง ปกติแล้วบริเวณจะมีเชื้อประจำถิ่น ที่คอยดักจับเชื้อโรคที่ผ่านเข้าไปในช่องคลอด คนปกติจึงไม่เกิดการติดเชื้อได้ง่ายๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ มีการสวนล้างช่องคลอดหรือใช้น้ำยารุนแรง เชื้อประจำถิ่นที่เคยมีก็จะตายไป ทำให้เชื้อต่างๆวิ่งเข้าสู่ช่องคลอด โพลงมดลูกเกิดการติดเชื้อทั้งแม่และลูกได้อย่างง่ายดาย
13.ห้ามยกของหนัก – ปีนป่ายที่สูง
ขณะยกของที่มีน้ำหนักมาก แรงดันจะไปอยู่ที่มดลุกเพราะเป็นจุดศุูนย์กลาง แรงดันขณะยกของเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้ การยกของหนัก – ปีนป่ายที่สูง เสียการทรงตัวทำให้ล้มกระแทกได้เช่นกัน
14.ห้ามสามีนอกใจ
ข้อนี้จำเป็นต้อง แท็ก หรือ Coppy ให้สามีอ่านค่ะ จากรายงานทางการแพทย์พบว่า สามีนอกใจภรรยามากที่สุดในช่วงตั้งครรภ์ เที่ยวหญิงบริการ มีเพศสัมพันธุ์กับหญิงอื่นมากหน้าหลายตา การกระทำดังกล่าวส่งผลต่อแม่และลูกเพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เช่นเชื้อเอดส์ เชื้อหนองใน เชื้อเริม และซิฟิลิส ทุกเชื้อที่กล่าวมาอาจส่งผลต่อความพิการและสุขภาพของทารกด้วย การป้องกัน คุณแม่ตั้งครรภ์อย่าละเลยในการให้ความสุขกับสามี เพราะตลอด 9 เดือน คุณแม่ตั้งครรภ์ที่แพทย์ไม่ได้จำกัดกิจกรรมทางเพศ หรือไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องงด คุณสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติในท่าทีไม่ผาดโผนจนเกินไป
การดูแลสุขภาพครรภ์นั้นสำคัญ เพราะไม่ใช่เพราะคุณแม่เพียงคนเดียว เพราะคนที่อยู่ในท้องด้วย หากพบความผิดปกติควรพบแพทย์ทันที
บทความแนะนำสำหรับแม่ตั้งครรภ์
1. คนท้องกินอะไรดีต่อลูก108ปัญหาคาใจตอบทุกคำถาม
2. ยาบำรุงครรภ์ลดความพิการของทารก
3. บำรุงครรภ์อย่างไรให้ลูกฉลาด
เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team