รับมือภาวะ Baby Blue ปัญหาซึมเศร้าหลังคลอดอย่างมืออาชีพ

07 April 2015
29649 view

ปัญหาซึมเศร้าหลังคลอด

หลายคนย่อมเคยได้ยินคำว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ Baby Blue” มาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งภาวะดังกล่าวเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในผู้หญิงช่วงหลังคลอดลูก ซึ่งนอกจากจะเกิดเพราะการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนหลังคลอดแล้ว ความเครียด กดดัน ไม่มีใครที่เข้าใจมาแบ่งเบาภาระการเลี้ยงดูลูกก็อาจเป็นตัวกระตุ้นให้ภาวะนี้รุนแรงขึ้นด้วยเช่นกัน บทความวันนี้จึงอยากให้คุณแม่หลังคลอดที่ต้องการป้องกันและรับมือกับ Baby Blue รู้จักอาการนี้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลกับความซึมเศร้าจากอาการ Baby Blue ค่ะ

ปัญหาซึมเศร้าหลังคลอดมีสาเหตุเกิดจาก

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งหลักๆ แล้วเกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากร่างกายปรับสภาพช่วงหลังคลอดลูก ซึ่งเมื่อร่างกายเริ่มกลับมาสมดุลอาการเครียดและซึมเศร้าต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

ระดับความรุนแรงของปัญหาซึมเศร้าหลังคลอด

อาการซึมเศร้าหลังคลอด (Baby Blue) สามารถแบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามระดับความรุนแรง ดังนี้ อารมณ์เศร้าหลังคลอด โรคซึมเศร้าหลังคลอดและโรคจิตหลังคลอด

1. อารมณ์เศร้าหลังคลอด

อารมณ์เศร้าหลังคลอดเป็นกลุ่มภาวะที่พบบ่อยที่สุด สาเหตุหลักมาจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เป็นตัวกระตุ้น เช่น ความเครียดในการเลี้ยงลูก พักผ่อนน้อย ปรับตัวกับความเป็นแม่ไม่ทัน มีความวิตกกังวลสูง หรือวุฒิภาวะทางอารมณ์ต่ำ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นภาวะนี้ได้เช่นกัน อาการโดยทั่วไปที่พบจะมีลักษณะอารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย ขี้หงุดหงิด วิตกกังวลแม้แต่เรื่องเล็กน้อย จู้จี้จุกจิก อ่อนเพลีย ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ เพียงแต่ต้องอาศัยความช่วยเหลือและความรักความเข้าใจจากคนใกล้ชิด ที่ช่วยให้กำลังใจ เข้าใจในภาวะอารมณ์ของคุณแม่หลังคลอด

6.2-depression-postnatale-reveiller-bebe

นอกจากความรักความเอาใจใส่ของคนรอบตัวแล้ว คุณแม่หลังคลอดที่รู้ตัวว่าตนเกิดภาวะซึมเศร้า ควรปรับตัวปรับใจให้สงบ สร้างอารมณ์เบิกบานด้วยการทำงานอดิเรก ทำงานบ้านเบาๆ ออกกำลังกายเบาๆ ไม่หักโหม ดูแลรักษาสุขภาพทั้งทางกายและทางใจ อาจลาหยุดพักงานและขอให้ญาติๆ ช่วยเลี้ยงลูก จากนั้นก็หาเวลาพักผ่อนส่วนตัวบ้างเพื่อผ่อนคลายความเครียด พูดคุยกับเพื่อนสนิทหรือคนที่ไว้ใจได้เพื่อปรับทัศนคติของตัวเอง นอกจากนี้ควรลดความรู้สึกมีทิฐิลงและหันมาพึ่งพาคนอื่นบ้าง สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้คุณมีความสุขขึ้นและผ่านช่วงภาวะอารมณ์ซึมเศร้าแบบ Baby Blue ไปได้อย่างราบรื่น

2. โรคซึมเศร้าหลังคลอด

เป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยรองจากกลุ่มแรก มักมีอาการชัดเจนในช่วง 2-3 เดือนหลังจากคลอดลูก อาการที่พบบ่อยๆ เช่น มีความรู้สึกซึมเศร้า เบื่อง่าย ไม่เอาใจใส่ลูกของตัวเอง รู้สึกผิดที่ให้กำเนิดลูก ท้อแท้ ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง อาจเกิดความคิดต้องการฆ่าตัวตายหรือฆ่าลูก ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยแพทย์และควรได้รับยาที่แพทย์แนะนำ

3. โรคจิตหลังคลอด

อาการกลุ่มนี้มีความรุนแรงสูงแต่พบได้น้อยที่สุด ช่วงแรกเริ่มมักกระสับกระส่าย หงุดหงิด ขี้รำคาญ นอนไม่หลับ หลังจากนั้นอารมณ์จะเริ่มซึมเศร้า ท้อแท้ แต่ก็กลับมาอารมณ์ดีผิดปกติแบบฉับพลัน นอกจากนี้ยังมีอาการหลงผิดเกิดขึ้นซึ่งนับเป็นภาวะที่อันตรายมากๆ ต้องรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิดโดยด่วน

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะซึมเศร้าระดับไหน ความรักความเข้าใจของคนใกล้ชิดก็เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถึงแม้คุณแม่จะเป็นผู้ให้กำเนิดลูกน้อย แต่เมื่อเกิดอาการ Baby Blue คนใกล้ชิดก็มีส่วนช่วยให้ทั้งแม่และลูกที่ต้องเผชิญภาวะนี้สามารถก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ไปได้อย่างปลอดภัย สุดท้ายหากฮอร์โมนกลับมาสู่ภาวะปกติหรือได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ใกล้ชิดจากแพทย์ ก็จะสามารถทำให้คุณแม่กลับมามีสุขภาพจิตเป็นปกติเช่นเดิม จากนั้นคุณแม่ก็สามารถดูแลตัวเองและทารกน้อยได้อย่างเต็มที่โดยที่ไม่ต้องกังวลกับอารมณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอีกแล้วค่ะ

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. 13 อาการผิดปกติหลังคลอด ที่ต้องรีบพบแพทย์

2. อาหาร สมุนไพรและยาเพิ่มน้ำนมแม่ที่ปลอดภัย

3. สมุนไพรรักษาอีสุกอีใส หายได้ใน 3 วัน

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team