กล่าวคำชมเชยลูกให้ถูกเวลาส่งเสริมการคิดบวก

23 January 2015
2920 view

การกล่าวคำชมในเด็ก 

การกล่าวคำชมเชย เป็นหนึ่งในแรงเสริมทางบวก (Positive Reinforcement) ซึ่งเป็นวิธีบำบัดทางจิตวิทยาที่ใช้ปรับพฤติกรรม (Behavior Modification) แรงเสริมทางบวกคืออะไรก็ตาม ที่เมื่อเกิดขึ้นตามหลังพฤติกรรมใดๆ แล้วจะทำให้พฤติกรรมนั้นเกิดมากขึ้นในอนาคต การชื่นชมลูกไม่ใช่เรื่องผิด เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำ และควรให้คำชมให้ถูกต้องถูกเวลา  คำชมเชยที่เป็นลักษณะคำพูด (คำพูดชม) และคำชมเชยที่เป็น การกระทำ (การยิ้มและการลูบศีรษะ) เมื่อทำอย่างเหมาะสมก็จะทำให้พฤติกรรมที่เราปรารถนาให้เกิด มีโอกาสเกิดมากขึ้นในอนาคตเมื่อเราเห็นพฤติกรรมดีๆ ของเด็กและอยากให้เด็กทำเช่นนั้นต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะต้องให้แรงเสริมทางบวก การให้แรงเสริมที่ได้ผลมากที่สุด จะต้องทำทันที หลังจากพฤติกรรมนั้นๆ หากปล่อยเวลานานเกินไป ผลลัพธ์ก็จะไม่ดีเท่าการให้แรงเสริมไปอย่างทันที แรงเสริมทางบวกนั้น อาจเป็นคำชมเชยที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ รางวัล โบนัส และนามธรรม ได้แก่ คำชมเชย หรือการกระทำ (เช่น รอยยิ้ม ท่าทางการแสดงออก การสัมผัส กอด โอบ ลูบศีรษะ)

การกล่าวคำชมเชยที่ดีและได้ผล ต้องมีองค์ประกอบ 3 ข้อด้วยกัน

1. คำชมเชย
2. คำพูดบอกถึงพฤติกรรมที่เราเห็นว่าดีและอยากให้เกิดมากขึ้น
3. คำพูดที่บอกผลกระทบในทางบวกที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมนั้น

ตัวอย่างการกล่าวคำชมในเด็กอย่างในกรณีของ เด็กชาย ไก่

1. คุณแม่กล่าวคำชมเชย ก็คือ “ไก่มีน้ำใจมากลูก”
2. พฤติกรรมที่แม่เห็น ว่าดี ก็คือ “…ที่ช่วยแม่พับผ้า เก้บผ้าให้เรียบร้อย ”
3. ผลกระทบในทางบวกที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมนั้น ก็คือ “…เสร็จเร็วขึ้นทำให้แม่หายเหนื่อย ชื่นใจจริงๆเลยค่ะ ” สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องพูดชมเชยด้วยความจริงใจในสิ่งที่ดีๆ ที่เด็กทำและสิ่งนั้นทำให้เรารู้สึกดี ไม่ใช่ว่าพูดชม ทุกเรื่องไปทั่วโดยที่เราก็ไม่ได้คิดว่าดีเท่าไหร่ เด็กจะรู้สึกได้ว่าเราไม่ได้รู้สึกแบบนั้นจริงๆ ในคราวแรกๆ อาจจะค่อนข้างยากและดูกระดาก ไม่คุ้นเคย แต่เมื่อลองทำไปแล้ว ก็จะทำได้เรื่อยๆ จนเป็นความเคยชิน

ภาษากายที่แสดงออกประกอบคำชมเชยก็มีความสำคัญเช่นกัน ขณะที่คุณแม่กล่าวคำชมเชยลูกจะต้องมีรอยยิ้มมองหน้าสบตาลูกรักด้วยนะคะ และที่สำคัญมาก คือ จะต้องไม่มีคำพูดประชดประชันเหน็บแนมเพราะคำพูดประชดประชันจะลดประสิทธิภาพของแรงเสริมทางบวกลงไป อย่างมากบางครังคุณแม่อาจลืมและเผลอพูดออกไป