เช็คด่วน! มีตุ่มที่อวัยวะเพศ ใช่บาร์โธลินอักเสบหรือเปล่า

16 May 2023
1481 view

ตุ่มที่อวัยวะเพศ

.

.

ต้องยอมรับว่าเรื่องทางเพศเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในสังคมไทยมากนัก ด้วยวัฒนธรรมของประเทศไทยนั่นเอง เรื่องทางเพศที่ไม่ค่อยได้พูดถึงก็รวมไปถึงโรคหรืออาการปกติที่เกิดกับอวัยวะเพศด้วยเช่นกัน แล้วยิ่งโรคหรืออาการเหล่านั้นเกิดขึ้นในเพศหญิงก็ยิ่งไม่ค่อยถูกพูดถึงเข้าไปอีก ในบทความนี้เราจึงขอเป็นหนึ่งบทความที่เป็นตัวช่วยของสาว ๆ หรือ หนึ่งตัวช่วยของเพศหญิงที่จะมาช่วยให้เกิดความเข้าใจของอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับต่อมบาร์โธลิน โดยเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงหลายท่านซึ่งก็คืออาการต่อม บาร์โธลินอักเสบนั่นเอง โดยเราจะขอพาไปพบกับสาเหตุ อาการ การรักษา และการป้องกัน

บาร์โธลินอักเสบ เกิดจากอะไร

ก่อนอื่นเราขอพาสาว ๆ ไปทำความรู้จักกับต่อมบาร์โธลินกันก่อน โดยต่อมบาร์โธลินเป็นต่อมที่อยู่บนแคมใหญ่ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เป็นต่อมที่มีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ในสภาวะปกติไม่สามารถสัมผัสได้หรือไม่สามารถคลำเจอได้ แต่หากต่อมบาร์โธลินอักเสบจะสามารถสัมผัสได้ ต่อมบาร์โธลินนี้มีหน้าที่สำคัญในการผลิตเมือกหรือน้ำหล่อลื่นช่องคลอดขณะร่วมเพศหรือมีการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ซึ่งบาร์โธลินอักเสบเกิดได้จาก 3 กรณีหลัก ๆ คือ

  1. พฤติกรรมการออกกำลังกายมากเกินไปและไม่ถูกวิธี ซึ่งก็คือ การปั่นจักรยานอย่างหนักนั่นเอง ส่วนนี้จะทำให้บาร์โธลินอักเสบได้
  1. พฤติกรรมการสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะกางเกงชั้นในที่รัดจนเกินไปจะทำให้เมื่อต่อมบาร์โธลินที่ผลิตเมือกหรือน้ำหล่อลื่นออกมาแล้ว แต่ไม่สามารถที่จะหลั่งออกมาได้ แล้วสะสมจนทำให้บาร์โธลินอักเสบ
  1. การติดเชื้อ ส่วนนี้มักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์แล้วติดเชื้อจากคู่นอนโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Neisseria gonorrhoeae ซึ่งทำให้บาร์โธลินอักเสบได้
  1. พฤติกรรมการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล อาทิเช่น การขาดการรักษาความสะอาดที่มักถูกละเลยหรือมองข้ามอย่างการเปลี่ยนผ้าอนามัยในรอบวัน หรือ การใส่กางเกงชั้นในซ้ำโดยไม่ได้ทำความสะอาด เป็นต้น ส่วนนี้ก็จะทำให้เกิดการติดเชื่อบริเวณอวัยวะเพศหญิงและต่อมบาร์โธลินได้ ซึ่งนำไปสู่ต่อมบาร์โธลินอักเสบจนเกิดเป็นหนองขึ้นได้

ลักษณะอาการของโรค

เมื่อเราทราบถึงสาเหตุที่ทำให้บาร์โธลินอักเสบแล้ว ถัดมาเราก็ไปพบกับลักษณะอาการที่จะช่วยให้คุณผู้หญิงทั้งหลายสามารถสังเกตอาการของตนได้ ดังนี้

  • ขณะอาบน้ำคลำพบก้อนถุงบริเวณแคมใหญ่
  • มีอาการระคายเคืองเมื่อสวมใส่กางเกงชั้นใน หรือ เมื่อมีกิจกรรมทางเพศ หรือ เมื่อออกกำลังกายอย่างการปั่นจักรยาน
  • มีอาการปวดบริเวณที่เกิดการบวม
  • เกิดอาการบวม หรือ แดง หรือ เป็นหนอง ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงอาการติดเชื้อ
  • มีไข้หรือหนาวสั่นถึงเป็นผลสืบเนื่องเมื่อเกิดการติดเชื้อในข้อก่อนหน้า

วิธีการดูแลรักษา

แม้ว่าจะเกิดบาร์โธลินอักเสบจะเกิดขึ้นได้ในเพศหญิงทุกท่าน แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะมีวิธีรักษา ดังนี้

  1. เมื่อคุณตรวจพบหรือคลำเจอในช่วงแรกโดยที่ไม่มีอาการอื่น ๆ รวมด้วย เช่น อาการเจ็บ หรือ อาการบวม ให้คุณแช่น้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที ในช่วงนี้ที่ยังไม่มีอาการติดเชื้อร่วมด้วย บาร์โธลินอักเสบจะสามารถหายได้ด้วยตัวเอง
  1. หากมีการติดเชื้อ หรือ อาการอื่น ๆ อาทิเช่น อาการบวม แดง จะต้องรีบพบแพทย์ เพื่อรับยาฆ่าเชื้อภายในการดูแลหรือการแนะนำของแพทย์
  1. หากการติดเชื้อนั้นรุนแรงขึ้น อาทิเช่น มีหนองร่วมด้วย อาจต้องกรีดเอาหนองออกซึ่งจะมีการฉีดยาชาก่อนการรักษา แล้วรับยาฆ่าเชื้อและยาแก้ปวดซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลและการรักษาของแพทย์อย่างใกล้ชิด

การป้องกันโรคบาร์โธลินอักเสบ

แม้เกิดและรักษาได้ อย่างไรก็ดีการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นย่อมดีกว่า ซึ่งเราก็มีวิธีป้องกัน ดังนี้

  1. รักษาความสะอาด ทั้งการสวมใส่กางเกงชั้นในที่ผ่านการซักแล้ว หรือ การเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3 – 4 ชั่วโมง
  1. ออกกำลังกายแบบไม่หักโหมและเหมาะสม เพราะการออกกำลังกายโดยการปั่นจักรยานเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น
  1. เลือกคู่นอนที่มีสุขอนามัยทางเพศที่ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเพศจากคู่นอน
  1. เลือกสถานที่มีเพศสัมพันธ์ที่สะอาดเพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคขณะมีเพศสัมพันธ์
  1. หากคู่นอนของคุณยังไม่เคยมีการตรวจโรคใด ๆ ควรมีการป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ อาทิเช่น การสวมใส่ถุงยางอนามัย เป็นต้น
  1. การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  2. การรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่มที่มีประโยชน์และเพียงพอ เพราะจะช่วยซ่อมแซม และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  1. การสวมใส่เสื้อผ้าทั้งส่วนของเสื้อผ้าและส่วนของชุดชั้นในที่มีขนาดพอดีไม่รัดแน่นจนเกินไป จนกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบได้

บาร์โธลินอักเสบเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ในเพศหญิงเกือบทุกท่าน ซึ่งเราขอเป็นหนึ่งในตัวช่วยไขข้อสงสัยของสาว ๆ หากเกิดอาการนี้ขึ้นกับคุณหรือคนใกล้ชิดของคุณ คุณก็สามารถทราบสาเหตุเบื้องต้น วิธีรักษา หรือการป้องกันได้จากบทความเบื้องต้น 

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team