วิธีป้องกันและแก้ไข นมแม่แช่เเข็งมีกลิ่นหืน

29 April 2014
9118 view

นมแม่แช่เเข็งมีกลิ่นหืน

นมแม่ที่ผ่านการแช่แข็งหรือการทำนมสต๊อกนั้นส่งผลให้นมแม่มีกลิ่นที่ไม่เหมือนกับน้ำนมแม่สดๆ ลูกดื่มยากไม่ชอบในระยะแรกๆ ที่หัดให้กินก็อาจจะให้น้ำนมปั๊มสดๆ แต่เติมน้ำนมที่ละลายจากการแช่แข็งจำนวนน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนทีละน้อยให้เขาค่อยๆ ปรับตัวค่ะ

นมแม่แช่เเข็งมีกลิ่นหืน เกิดจากอะไร 

กลิ่นของน้ำนมแม่แต่ละคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเมนูอาหารที่รับประทานในวันนั้นๆค่ะ  ส่วนใหญ่จะเป็นกลิ่นของพวกน้ำมันหอมระเหยในอาหาร เช่น น้ำนมแม่กลิ่นกระเพรา กลิ่นน้ำพริกปลาทู หรือกลิ่นเครื่องแกงต่างๆจะออกมากับน้ำนมแม่ได้ แต่เด็กจะไม่อะไรกับกลิ่นเหล่าั้นสามารถกินได้ปกติ นมสต๊อกนำมาละลายเป็นน้ำนม มักจะมีกลิ่นหืนๆ ได้ทั้งนี้เพราะ ในนมแม่มีเอนไซม์ ชื่อ ไลเปส (lipase) ซึ่งแม่แต่ละคนจะมีเอนไซม์นี้มากน้อยแตกต่างกันดังรายละเอียดต่อไปนี้ค่ะ

หน้าที่ของไลเปส

  1. ย่อยให้ไขมันในนมแม่แตกตัว
  2. ทำให้ไขมันเป็นอนุภาคเล็กๆ จะได้ผสมเข้ากับโปรตีนเวย์ได้ดี
  3. ไขมันที่แตกตัวทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินA,D (ที่ละลายอยู่ในไขมันของนมแม่) ได้ดี

นมแม่บางคนมีไลเปสมากก็จะย่อยไขมันได้มากขณะที่เก็บอยู่ การเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ทำให้เกิดกลิ่นหืนได้นมที่มีกลิ่นหืนไม่เป็นอันตรายกับลูกให้กินได้ เพียงแต่บางคนอาจจะไม่ชอบกินเท่านั้น

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

วิธีป้องกันและแก้ไข นมแม่แช่เเข็งมีกลิ่นหืน 

  1. ทบทวนวิธีการเก็บน้ำนมก่อนอันดับแรก  เครื่องปั๊มที่ใช้ทำความสะอาดดีไหม นึ่งฆ่าเชื้อโรคทุกวันหรือเปล่า
  2. ภาชนะที่เก็บนมต้องสะอาดปราศจากเชื้อ ถ้าเก็บในถุงพลาสติกแล้วมีกลิ่น อาจจะลองเก็บใส่ภาชนะแก้ว
  3. วิธีเก็บนมสต๊อก ที่ดีที่สุดคือ แช่แข็งเร็วที่สุดหลังจากปั๊มออกมา (ถ้าคิดว่าจะไม่ใช้นมนั้นภายใน 48 ชม.)
  4. ห้ามแช่แข็งซ้ำนมที่ละลายมาแล้ว นมแม่ที่ทำละลายแล้วต้องใช้ภายใน 24 ชม.
  5. การแช่นมแม่รวมกับอาหารน้ำนมอาจจะดูดกลิ่นอื่นๆในตู้เย็นเข้ามาได้ ถ้าเก็บนมแม่รวมกับอาหารอื่นๆ ต้องปิดอาหารอื่นๆให้มิดชิดไม่ให้กลิ่นออกมาค่ะ ถ้าเป็นไปได้ควรแยกตู้แช่นม และตู้แช่อาหาร

วิธีแก้ไขนมแม่แช่เเข็งมีกลิ่นหืนจากเอนไซม์ไลเปส

ถ้าหากคุณแม่พยายามเก็บน้ำนมอย่างสะอาดและถูกต้องดีแล้ว แต่น้ำนมก็ยังหืนมากๆ และลูกไม่ยอมกินจริงๆ วิธีแก้ก็คือ ให้ปั๊มกินวันต่อวัน ถ้าแช่ช่องธรรมดา 2-3 วัน มักจะไม่หืนส่วนนมที่ฟรีซก็เก็บไว้ยามจำเป็น อันที่จริงส่วนใหญ่นมที่ปั๊มเก็บจนเต็มตู้นั้นมักจะไม่ได้ใช้ เท่าที่เห็นมามักต้องนำไปบริจาคหรือบางคนก็ตัดใจทิ้ง คุณแม่ที่ลูกได้กินนมแม่ทั้งหมดที่ปั๊มส่วนใหญ่เป็นแม่ที่ลูกไม่ดูดเต้า เพราะลูกที่ติดเต้าไม่ค่อยชอบนมปั๊มใส่ขวด mamaexpert สรรหาวิธี ที่จะช่วยคุณแม่แก้ปัญหาได้อยู่แล้ว อีกวิธีคือ การทำให้น้ำนมร้อนเพื่อยับยั้งการย่อยไขมันของไลเปสก่อนนำไปแช่แข็ง น้ำนมที่หืนไปแล้ว แก้ด้วยวิธีนี้ไม่ได้นะคะ ทำได้เฉพาะน้ำนมที่ปั๊มหรือบีบใหม่ๆ เท่านั้น ขั้นตอนมีดังนี้
  1. ทันทีที่บีบหรือปั๊มน้ำนมออกมา ให้นำไปต้มจนมีอุณหภูมิ 82 C สังเกตได้จากเริ่่มเห็นฟองเล็กๆ ผุดขึ้นรอบๆ หม้อ (อย่าปล่อยให้ถึงจุดที่เดือดเต็มหม้อนะคะ)
  2. หลังจากนั้นให้ดับไฟ ทิ้งไว้ให้เย็น
  3. นำไปแช่แข็งทันทีที่นมเย็นอย่าปล่อยทิ้งไว้นานเพราะอาจปนเปื้อนแบคทีเรียได้
วิธีการต้มนมแบบนี้ จะทำลายภูมิคุ้มกันบางส่วนและสารอาหารบางอย่างในน้ำนมแม่ได้ (แต่ก็ยังมีคุณค่ามากกว่านมผสม) ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล หากลูกยังได้ดูดนมแม่จากเต้าอยู่ด้วย