6 เทคนิค เตรียมใจลูกให้พร้อม ก่อนเปิดเทอม on site

28 October 2021
600 view

เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็ก ๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน ต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์แทน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความเครียดต่าง ๆ ทั้งกับตัวเด็กเองที่เกิดจากการเรียนออนไลน์และกับผู้ปกครองที่ต้องทำหน้าที่ครูจำเป็น คอยสอนและกำกับติดตามการเรียนของลูก จนมาช่วงนี้ที่รัฐบาลควบคุมสถานการณ์โควิดได้ดีขึ้น เริ่มมีมาตรการผ่อนคลายการล็อคดาวน์ รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุมกันไวรัสโควิดให้แก่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเรียนที่โรงเรียนในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตาม เราทุกคนรวมถึงเด็ก ๆ ยังควรปฏิบัติตัวตามหลักป้องกันการติดเชื้อโควิด เช่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่ออยู่นอกบ้าน ล้างมืออย่างถูกวิธีบ่อย ๆ และรักษา social distancing เหมือนเดิม เพราะนั่นก็คือสิ่งสำคัญของการเตรียมตัวลูกทางด้านร่างกายเพื่อป้องกันโควิด

ในส่วนของจิตใจ เด็ก ๆ เคยชินกับการอยู่บ้าน เจอแต่คนในครอบครัว ไม่มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อนและครู รวมถึงระเบียบวินัยในชีวิตประจำวันตอนเรียนออนไลน์ที่บ้านอาจไม่เคร่งครัดเหมือนตอนไปเรียนที่โรงเรียน ที่ต้องตื่นเช้า แต่งตัวใส่ชุดนักเรียน ปฏิบัติตามกฏระเบียบของโรงเรียน ดังนั้นเมื่อต้องกลับสู่รั้วโรงเรียนอีกครั้ง เด็ก ๆ คงต้องปรับตัวปรับใจกันยกใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กเล็กวัยอนุบาลที่อาจจะยังมีความกังวลในการแยกจากบ้านมากกว่าเด็กโต และด้วยความที่อยู่บ้านนาน ไม่ค่อยเจอคนแปลกหน้า ในเด็กโตเองอาจกังวลเรื่องการติดเชื้อโควิดเมื่อออกนอกบ้าน หรือในเด็กทุกวัยที่มีพื้นนิสัยเป็นคนขี้กังวลอยู่เดิม ปัจจัยเหล่านี้จะยิ่งทำให้เด็ก ๆ เหล่านี้ยิ่งต้องปรับตัวปรับใจอย่างมากในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการเรียนอยู่บ้านกลับไปสู่โรงเรียน

เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยลูกเตรียมใจให้พร้อมก่อนกลับไปเรียนที่โรงเรียน พญ.ดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว กุมารแพทย์ที่ปรึกษาศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช จึงมีคำแนะนำมาฝาก ดังนี้

1. ใส่ใจรับฟังความกังวลใจของลูกโดยไม่รีบตัดสิน ปฏิเสธความรู้สึก หรือรีบสอน 

ในเด็กโตที่คุยได้แล้ว เด็กอาจจะบอกพ่อแม่ได้ชัดเจนถึงความกังวล ความไม่สบายใจต่าง ๆ จากการต้องไปโรงเรียน ขอให้พ่อแม่ใส่ใจรับฟังโดยไม่รีบตัดสินแทนลูกว่าควรรู้สึกหรือรู้สึกอย่างไร อาจพูดสะท้อนความรู้สึกของลูกตามจริงที่เราสัมผัสได้ได้ว่า “ลูกดูไม่สบายใจที่จะไปโรงเรียน เล่าให้แม่ฟังสิคะว่ากังวลเรื่องอะไรบ้าง”

ในเด็กเล็กที่ยังพูดบอกความรู้สึกได้ไม่ชัดเจน เด็กอาจจะงอแง หงุดหงิด ติดพ่อแม่มากขึ้น พัฒนาการถดถอยลงได้ เช่น ไม่ยอมตักข้าวทานเองทั้งที่ทำได้แล้ว อาจจะควบคุมการขับถ่ายได้ไม่ได้เท่าเดิม ให้พ่อแม่รับรู้ว่านั่นเป็นการแสดงออกของความกังวล ความไม่สบายใจของเด็ก

2. มีท่าทีที่สงบ เป็นที่พึ่งทางใจของลูก

แม้เด็กจะมีความความกังวลหรือความสับสนในการกลับไปโรงเรียน ท่าทีที่สงบ หนักแน่น ปราศจากความกังวลของพ่อแม่ จะช่วยลดความเข้มข้นของความรู้สึกไม่ดีของลูกลงได้ แต่หากท่าทีของพ่อแม่ยิ่งกังวล เด็ก ๆ จะยิ่งถูกเร้าให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจมากขึ้น เพราะพ่อแม่มีอิทธิพลในการ set บรรยากาศทางอารมณ์ในบ้าน หากผู้ใหญ่กังวลก็ไม่ควรแสดงท่าทีกังวลออกไปให้ลูกรับรู้ คำถามประเภท “ลูกกลัวไหมที่จะกลับไปเรียนที่โรงเรียน” หรือคำพูดเตือนแบบ “ลูกต้องระวังตัวทุกฝีก้าวนะ เพราะลูกจะติดโควิดจากการไปโรงเรียน” เป็นการสื่อสารความกังวลของเราให้ลูกรู้ ซึ่งไม่เกิดผลดีต่อจิตใจลูกเลย หากผู้ใหญ่กังวลใจ ควรจะพูดคุยปรึกษาและหาทางจัดการแก้ไขหรือหาทางป้องกันปัญหากันเองจะดีกว่า

3. สอนลูกให้มองโลกแง่ดี 

- ชวนลูกคุยถึงข้อดีของการไปเรียนที่โรงเรียน เช่น ได้เจอเพื่อน เจอครู ได้ทำกิจกรรมสนุกสนาน

- การที่ลูกรู้วิธีการป้องกันตัวเองจาการติดเชื้อโควิด จะช่วยให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง ลดการเจ็บป่วยจากโรคอื่นได้อีกด้วย เพราะอย่าลืมว่านอกจากโควิดแล้ว ยังมีโรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่ทำให้เด็กป่วยได้บ่อย เช่น ไข้หวัดใหญ่ มือ เท้า ปาก อุจจาระร่วง โรคติดเชื้อเหล่านี้ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยส่วนตัว เช่น ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี อยู่ห่างจากคนอื่น และไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนอื่น

- ในเด็กเล็กที่มีความกังวลที่ต้องจากพ่อแม่ หรือจากบ้าน ให้พูดบอกลูกง่าย ๆ ว่า “ตอนที่หนูอยู่ที่โรงเรียน พ่อแม่อยู่ที่ทำงาน / อยู่ที่บ้าน / ทำงานบ้าน / ไปตลาด….. พอบ่าย 2 แม่จะมารับหนูเลยค่ะ” การบอกเด็กแบบนี้ จะช่วยลดความกังวลเมื่อเด็กได้รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน และจะมารับเขาเมื่อไหร่

- ในเด็กเล็ก อนุญาตให้ลูกหยิบของรักของหวงหรือของเล่นชิ้นโปรดจากบ้านติดมือมาที่โรงเรียนด้วย จะทำให้ลูกอุ่นใจ คลายกังวลลงไปได้บ้างเมื่อต้องแยกจากพ่อแม่

4. ฝึกเด็กเล็กให้อยู่เองลำพัง

เด็กวัยอนุบาลที่เดิมมีคนอยู่ด้วยตลอด ลองฝึกให้เด็กนั่งเล่นอยู่ในห้องคนเดียวสักระยะหนึ่ง เริ่มที่ 5-10 นาทีก่อน โดยผู้ใหญ่ทำงานบ้านหรือทำธุระอยู่อีกห้องหนึ่งโดยเด็กรู้ว่าผู้ใหญ่อยู่ตรงไหนหากต้องการเดินไปหา หากเด็กอยู่ได้ก็ค่อยเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ หรือการให้เด็กได้อยู่กับผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ที่พ่อแม่ไว้ใจบ้าง ก็เป็นการฝึกการอยู่ร่วมกับคนอื่นไปทีละน้อย

5. จัดระเบียบกิจวัตรประจำวันให้เด็ก

พ่อแม่ควรจัดตารางกิจวัตรประจำวันให้เด็กทำตามอย่างสม่ำเสมอ สิ่งนี้จะทำให้เด็กมีวินัย และรู้จักเวลา ควรกำหนดเวลาตื่นนอน ทานมื้ออาหารหลัก อาหารว่าง เวลาเล่น เวลานอน ให้ลูกทำตามทุกวัน เวลาที่แน่นอนแบบนี้จะดีกับลูกมาก เพราะไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะเปิดเทอม จะปิดเทอม เด็กจะปรับตัวและควบคุมตัวเองได้ดีกว่า

6. สอนลูกให้รู้จักยืดหยุ่น ปรับความคิดรับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

เนื่องจากรัฐเพิ่งเริ่มผ่อนคลายล็อคดาวน์ คงต้องมีการติดตามสถานการณ์และประเมินมาตรการกันอยู่ตลอด แผนการอาจจะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ในยามที่ความไม่แน่นอนมีอยู่ พ่อแม่ควรจะปรับความคิดตัวเองและเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกในการเปิดรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น เช่น เปิดเทอมไปโรงเรียนได้ 2 อาทิตย์ โรงเรียนอาจจะต้องปิด 2 อาทิตย์เนื่องจากมีการระบาด เด็กต้องกลับมาเรียนออนไลน์อีก เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่และเด็กควรเตรียมใจไว้เสมอ จะได้ไม่หงุดหงิด สับสน และไม่ทำให้เด็กตื่นกลัวหรือผิดหวังเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น อาจบอกลูกว่า “ตอนนี้ต้องดูเป็นวันต่อวัน แผนการอาจจะเปลี่ยนตามสถานการณ์นะลูก ช่วงนี้ยังไม่แน่นอน ต้องเป็นแบบนี้ไปก่อนนะจ๊ะ”

เด็กๆ ส่วนใหญ่ต่างก็อยากกลับไปเรียนที่โรงเรียนคงปรับตัวได้ไม่ยาก เพราะเบื่ออยู่บ้าน อยากเจอเพื่อน อยากออกนอกบ้าน ทำกิจกรรมต่าง ๆ สนุกกว่าอยู่บ้าน 

โดยทั่วไปเด็กจะใช้เวลาปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ประมาณ 2-3 อาทิตย์ ก็จะอยู่ตัว ไปโรงเรียนอย่างปกติสุข แต่หากเวลาผ่านไป 1 เดือนแล้ว ลูกยังปรับตัวไม่ได้ ไม่อยากไปโรงเรียน ดูมีความทุกข์ใจจากการไปโรงเรียน ควรพาลูกมาปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการปรับตัวไม่ได้นี้ว่าเกิดจากอะไร เพื่อจะได้ทำการช่วยเหลือได้ทันที

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลนวเวช โทร.02-483-9999 หรือทาง www.navavej.com