ไม่อยากให้ลูกคลอดออกมาพิการ กลัวลูกพิการต้องทำอย่างไร

31 August 2018
6999 view

ไม่อยากให้ลูกคลอดออกมาพิการ

 .

.

ความปรารถนาสูงสุดของคนวางแผนตั้งครรภ์และกำลังตั้งครรภ์อยู่ก็คือ ไม่อยากให้ลูกคลอดออกมาพิการ อยากให้ลูกมีอวัยวะครบสามสิบสอง คลอดออกมาอย่างปลอดภัย นี่คือความต้องการที่แฝงไปด้วยความกลัว เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนหรือไปตามโรงเรียนเราก็มักจะพบเด็กพิเศษหรือเด็กพิการเพิ่มขึ้น ทำให้คุณแม่เกิดความกังวลอยู่ไม่น้อย  Mamaexpert จึงนำเคล็ดลับดีๆ ในการป้องกันไม่ให้ลูกคลอดออกมาพิการมาฝากคุณแม่ตามมาเลยค่ะ

6 เคล็ดลับ เพื่อไม่ให้ลูกคลอดออกมาพิการ

1. ไม่อยากให้ลูกคลอดออกมาพิการต้องปรึกษาแพทย์ก่อนและหลังตั้งครรภ์

ก่อนจะวางแผนตั้งครรภ์หรือเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์แล้ว ควรรีบพบแพทย์ เพื่อปรึกษา ตรวจความพร้อมในการตั้งครรภ์ ตรวจโรคและปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ หากสามารถตั้งครรภ์ได้จะอยู่ในความดูแลของแพทย์จนคลอด 

2. ไม่อยากให้ลูกคลอดออกมาพิการต้องกินโฟเลต

โฟเลตมีความสำคัญในการสังเคราะห์ DNA การแบ่งเซลล์ การพัฒนาอวัยวะของทารกในครรภ์ ในช่วงของเดือนแรกของการตั้งครรภ์หากขาดโฟเลตจะส่งผลให้ทารกมีความผิดปกติด้านการพัฒนาสมองและระบบประสาท ทำให้มีภาวะหลอดประสาทเปิด ภาวะไร้สมอง และกระดูกไขสันหลังปิดไม่สนิท ดังนั้นเมื่อตัดสินใจมีลูกจึงควรรับประทานโฟเลตก่อน 3 เดือน เพื่อช่วยลดความพิการได้ถึงร้อยละ 50-75(1) นอกจากนี้ควรทานผักใบเขียว เช่น กะหล่ำปลี ผักโขม ผักกาดหอม ควบคู่ไปด้วยเพราะในผักใบเขียวอุดมไปด้วยโฟเลต

3. ไม่อยากให้ลูกคลอดออกมาพิการต้องงดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์เป็นสิ่งต้องห้ามของหญิงตั้งครรภ์ นอกจากทำให้มีบุตรยากยังมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก หากคุณแม่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะส่งผลต่อลูกในครรภ์ เนื่องจากเอทานอลซึ่ง​เป็น​สารที่อยู่ใน​เครื่อง​ดื่ม​แอลกอฮอล์​(2) จะไปทำลายเซลล์ประสาทจะทำทำให้ทารกผิดปกติในด้านต่างๆ เช่น ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย ศีรษะเล็ก การเคลื่อนไหวผิดปกติ สมาธิสั้น ช่องตาสั้น จมูกแบน(3) กระดูกสันหลังผิดปกติ พิการทางสติปัญญา หัวใจและไตผิดปกติ(4) เป็นต้น

4. ไม่อยากให้ลูกคลอดออกมาพิการต้องงดหรือหลีกเลี่ยงบุหรี่

ควันบุหรี่ไม่ว่าจะมาจากใคร หรือคุณแม่สูบเองก็อันตรายเท่ากัน เนื่องจากสารนิโคติน คาร์บอนมอนอกไซด์ในควันบุหรี่และทาร์ส่งผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาท ได้แก่ อะเซติลโคลีน โดปามีน และนอร์อีพิเนฟริน และสารดังกล่าวจะไปขัดขวางการพัฒนาของเซลล์ประสาทของทารก ทำให้เลือดผ่านรกได้น้อยลง ได้รับสารอาหารและออกซิเจนน้อยลง ทำให้ทารกในครรภ์ขาดสารอาหารและอาจทำให้เสียชีวิตในครรภ์ และหากไม่เสียชีวิตในครรภ์เมื่อคลอดออกมาน้ำหนักแรกจะเกิดน้อย สมาธิสั้น มีพฤติกรรมก้าวร้าว(3) และเด็กมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง(4)

5. ไม่อยากให้ลูกคลอดออกมาพิการต้องรักษาสุขภาพ

สุขภาพของแม่ทั้งก่อนและขณะตั้งครรภ์ควรมีสุขภาพที่แข็งแรง เพราะหากป่วยหรือเป็นติดโรค เช่น โรคหัดเยอรมัน หากคุณแม่ติดเชื้อขณะตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก ลูกจะมีมีความผิดปกติด้านขนาดตัว หูหนวก หัวใจพิการตับและม้ามโต เกล็ดเลือดต่ำ ตาเป็นต้อกระจกหรือต้อหิน รวมทั้งมีความผิดปกติทางสมอง(5) ดังนั้นต้องรักษาสุขภาพของตัวเองให้ดี ไม่สูบดมสารพิษ หากเจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัวต้องพบแพทย์และไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะอาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่ต่างกันออกไป การให้ยาจึงอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อแม่และลูกในครรภ์

6. ไม่อยากให้ลูกคลอดออกมาพิการต้องฝากครรภ์ครบกำหนด

โดยปกติแล้วเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ต้องรีบพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ อยู่ในความดูแลของแพทย์ เพื่อให้แพทย์ชประเมินการตั้งครรภ์ ซักถามประวัติ ตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด วัดความกว้างของช่องเชิงกรานว่าสามารถคลอดเองได้หรือไม่ ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจหาโรคต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อแม่และลูก เช่น ไวรัสตับอักเสบบี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคหัดเยอรมัน ภาวะซีดและพาหะธาลัสซีเมีย รวมทั้งช่วยวางแผนดูแลครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงคลอด และที่สำคัญคุณแม่ต้องไปฝากครรภ์หรือพบแพทย์ตามตารางนัดทุกครั้ง เพราะในการพบแพทย์แต่ละครั้งมีการตรวจเช็คความพร้อม ประเมินความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ รวมทั้งหาความผิดปกติของทารถในครรภ์ หากพบความผิดปกติแพทย์จะวินิจฉัยว่าสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้หรือไม่ หากเสี่ยงต่อแม่และเด็กหรือมีความพิการที่รุนแรงแพทย์จะให้ยุติการตั้งครรภ์ ยิ่งตรวจพบความผิดปกติเร็วแพทย์จะหาทางออกที่เหมาะสมได้มากขึ้น ดังนั้นต้องมาพบแพทย์ทุกครั้งตามนัดหมายเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของแม่และลูก

คุณแม่คงทราบแล้วว่าต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อลดโอกาสไม่ให้ลูกคลอดออกมาพิการ หวังว่าคุณแม่จะคลายความกังวลลง และปฏิบัติตามที่ Mamaexpert ได้กล่าวมา ลูกและแม่จะปลอดภัยอยู่ที่คุณแม่เป็นคนเลือกนะคะ


บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ยาบำรุงครรภ์ เพื่อบำรุงลูกให้แข็งแรงไม่พิการมีอะไรบ้าง

2. ควันบุหรี่อันตรายกว่าที่คิด แม่ท้องเสี่ยงแท้ง ลูกเสี่ยงพิการ

3. โฟเลตกินอย่างไร กินอายุครรภ์เท่าไหร่ช่วยลดความพิการของทารกในครรภ์

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง

1. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.คู่มือโรงเรียนพ่อแม่.เข้าถึงได้จาก http://203.157.71.162/ewt_dl_link.php?nid=2518.[ค้นคว้าเมื่อ 23 สิงหาคม 2561]  

2. รศ.สุชาตา ชินะจิตร.พิษของแอลกอฮอล์.เข้าถึงได้จาก http://www.liquor.or.th.[ค้นคว้าเมื่อ 24 สิงหาคม 2561]

3. ผศ.พญ.สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงศ์.ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.ผลกระทบของการเสพสารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์.เข้าถึงได้จาก http://www.si.mahidol.ac.th.[ค้นคว้าเมื่อ 19 สิงหาคม 2561]   

4. Birth defect.เข้าถึงได้จาก https://en.wikipedia.org.[ค้นคว้าเมื่อ 19 สิงหาคม 2561]  

5. บังอร พรรณลาภ.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.หัดเยอรมันกับการตั้งครรภ์.เข้าถึงได้จาก http://www.si.mahidol.ac.th.[ค้นคว้าเมื่อ 19 สิงหาคม 2561]