เทคนิคการฝึกพูดกับลูก โดยพ.ญ. จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์

21 December 2012
15301 view

การฝึกพูดกับลูก

โดย พ.ญ. จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์


การใช้ภาษานั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่เด็กใช้ในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น และเป็นการทำให้เด็กคิดโดยตนเอง เป็นหลักสำคัญในการเรียนรู้และการสร้างสรรค์

การสื่อสารที่แตกต่างในวัยทารก

ตั้งแต่เล็ก เด็กใช้การร้องโดยลักษณะต่างกันไปในการที่จะสื่อให้คุณพ่อคุณแม่ทราบถึงความต้องการพื้นฐานของเขา ได้แก่การที่เขาหิว, ฉี่เปียก, อยากให้อุ้ม, หรือง่วงนอนโยเย ซึ่งคุณก็จะทราบได้ว่าลูกต้องการอะไรในตอนนั้นหลังจากปล้ำกันอยู่สักพักหนึ่ง เมื่อเด็กโตขึ้นเขาเริ่มมีความต้องการอย่างอื่นมากขึ้น เด็กก็จะเริ่มทำเสียงเรียก อือออ หรือแอ้ะแอ้ะ เมื่อเรียกร้องความสนใจพร้อมทั้งทำหน้า หรือทำท่าบอกความต้องการของเขาให้เราพอรู้ได้ ซึ่งเมื่อเด็กโตขึ้นอีกความสามารถในการสื่อสารก็จะดีขึ้น ทำให้เขาเริ่มเปลี่ยนจากการทำเสียงธรรดามาเป็นเสียงที่เริ่มมีความหมายเป็นคำ เช่น มะมะ, หม่ำหม่ำ, จ๋าจ๊ะ ซึ่งอยู่ในช่วงอายุประมาณ 1-2 ปี เด็กเองอาจมีการออกเสียงที่เลียนเสียงภาษาพูด แต่อาจฟังไม่ได้เป็นคำที่มีความหมาย เหมือนบ่นพึมพำ (word-like jargon) ซึ่งในช่วงอายุ ~ 2 ปี เด็กจะสามารถใช้คำต่างๆได้ประมาณ 200 คำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำที่ผู้ใหญ่ในบ้านนั้นใช้พูดคุยกัน พออายุ~ 3 ปี คำศัพท์ที่ใช้ก็จะเพิ่มมากขึ้นประมาณ 5 เท่า คือเป็น ~ 1,000 คำ และจะเพิ่มเป็นมากกว่า 2,000 คำ เมื่อเด็กเริ่มเข้าเตรียมอนุบาล

พัฒนาการทางด้านภาษาขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน

การพัฒนาการทางด้านภาษานี้จะเป็นไปตามธรรมชาติ และขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน บางคนอาจจะเป็นเด็กที่ชอบสังคมและมีคนรอบข้างช่วยสอนพูดคุยด้วย ก็จะพูดได้เร็วกว่าเด็กอื่นบ้าง ขณะที่บางคนอาจจะยังไม่ค่อยพูดนักเอาแต่เล่นซนวิ่งเล่น หรือปีนป่าย ไปตามใจ ก็จะดูเป็นเด็กพูดช้ากว่าคนอื่นบ้างในช่วงอายุ ขวบเศษๆ แต่ก็จะมามีการพูดได้มากขึ้นในช่วงอายุ 2-3 ขวบ ไม่ว่าลูกของคุณพ่อคุณแม่จะอยู่ในกลุ่มที่พูดเร็วหรือพูดช้าการช่วยฝึกพูดให้ลูกจะช่วยเสริมทักษะการพูดและการสื่อสารให้แก่ลูกได้ ซึ่งมีข้อแนะนำดังนี้

1. ลูกได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้เขาได้ทั้งคำศัพท์ใหม่ๆ

ให้เด็กได้มีประสบการณ์ต่างๆที่หลากหลาย สมองของเด็กก็เหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีโปรแกรมต่างๆไว้พร้อมแล้ว ยังขาดก็แต่ข้อมูลที่จะป้อนเข้าไปเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้ ซึ่งเด็กต้องการทั้งคำศัพท์( vocabularly) และ คอนเซปต์ (concepts) ต่างๆของความหมายของคำ เพื่อที่จะได้นำมาใช้ได้ ดังนั้นการที่ให้ลูกได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้เขาได้ทั้งคำศัพท์ใหม่ๆ และคอนเซปต์ของคำนั้นๆ ก็จะทำให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้มากขึ้น เช่น การไป ซื้อของในซุปเปอร์มาร์เกต การไปเดินในสวน ฯลฯ และพยายามใช้คำศัพท์ใหม่ๆนั้นพูดกับเด็กในแบบง่ายๆ

2. ใช้หนังสือรูปภาพมาประกอบกับการพูด

ในบางครั้งคุณอาจจะหาหนังสือรูปภาพ มาประกอบกับการพูดกับลูกโดยเฉพาะเมื่อมีโอกาสพาลูกไปเที่ยวสวนสัตว์ พอกลับมาคุณนำรูปนก ยีราฟ เสือ ฯลฯ มาให้ดูและทำเสียงหรือท่าทางเลียนแบบสัตว์ต่างๆนั้น เช่น คุณอาจจะถามลูกว่าลิงทำท่าอย่างไร ชอบกินอะไร ฯลฯ ก็จะเป็นการทำให้ลูกสนุกกับการรู้จักคำศัพท์และเข้าใจมากขึ้น

3. พยายามให้ลูกได้ใช้ประสาทสัมผัสพิเศษ

พยายามให้ลูกได้ใช้ประสาทสัมผัสพิเศษทั้ง 5 คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในการทำความรู้จักกับสิ่งต่างๆ และแยกแยะลักษณะเฉพาะของสิ่งต่างๆได้ เพื่อให้เข้าใจคอนเซปต์ต่างๆได้ดีขึ้น เช่น ความเปียก กับ ความแห้ง, ความร้อนกับความเย็น, ใหญ่กับเล็ก, มากกับน้อย, แข็งกับนุ่ม,ข้างในกับข้างนอก,ความสว่างกับความมืด, ดีใจกับเสียใจ, สูงกับต่ำฯลฯ และที่สำคัญอีกอย่างคือการเป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น การเอาน้ำใส่กาไปตั้งบนเตา น้ำก็ร้อน เมื่อเอาไปใส่ไว้ในตู้เย็น น้ำก็เย็น เมื่อใส่ไว้ในช่องทำน้ำแข็งน้ำก็กลายเป็นน้ำแข็งได้ การพยายามช่วยให้เด็กได้มองและรับรู้เกี่ยวกับสีสันและรูปร่าง(ทรงกลม,โค้ง, เหลี่ยม ฯลฯ), เสียงดังเสียงค่อย,กลิ่นหอมกลิ่นเหม็น, ก็จะช่วยให้เด็กเข้าใจในสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น

บทความแนะนำเพิ่มเติม 

1. ลูกกินนมเท่าไหร่ดี คุณแม่ควรรู้

2. นมถั่วเหลืองสำหรับทารก ดีจริงหรือ?

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team