ลูกตาแป๋ว หรือ ลูก ตาเหล่ กันแน่?

25 September 2012
12402 view

ลูกตาแป๋วหรือลูกตาเหล่


ตาเข ตาเหล่
คือ ภาวะที่การกลอกของลูกตาผิดปกติ อาจเกิดข้างเดียว หรือเกิดสองข้างก็ได้ เกิดจากแรงที่กล้ามเนื้อรอบๆ ลูกตาที่มีอยู่ 6 มัด ออกแรงไม่เท่ากัน หรือไม่สมดุลกัน การที่กล้ามเนื้อรอบๆ ลูกตาออกแรงไม่เท่ากัน ปัญหาอาจเกิดจากสมองเอง เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ หรือตัวกล้ามเนื้อเอง การกลอกของลูกตาผิดปกติอาจเกิดได้ทั้งแนวนอนหรือแนวตั้ง ผลที่เกิดตามมาคือ ตาอาจเขเข้าใน หรือออกนอก ภาวะนี้พบได้บ่อย ทุกๆ เด็กก่อนวัยเรียนหนึ่งร้อยคน จะมีภาวะตาเหล่ได้ 1 คน

สาเหตุของตาเหล่ 

ตาเหล่ทางการแพทย์แบ่งกลุ่มโรคออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ เกิดจากกล้ามเนื้อกลอกลูกตาไม่ทำงาน อ่อนแรง หรือเกิดจากกล้ามเนื้อกรอกลูกตาปกติดี แต่ระบบประสาทสั่งการหรือกลไกการควบคุมทางสมองทำงานผิดปกติ ซึ่งตาเข ตาเหล่ที่เราคุ้นเคย เกิดจากกล้ามเนื้อกลอกลูกตาเป็นปกติดี แต่ระบบประสาทสั่งการหรือกลไกการควบคุมของสมองทำงานผิดปกติ จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาวะนี้จะพบได้ในเด็กที่มีความพิการทางสมอง มากกว่าเด็กปกติ

ชนิดของตาเหล่ 

ตาเหล่อาจเกิดขึ้นบางครั้งบางคราว เด็กบางคนดูตาปกติดี ตาดำตรงทั้ง 2 ข้าง แต่บางครั้งก็ดูคล้ายๆ กับตาเหล่ เราเรียกภาวะนี้ว่า Heterophoria ในภาวะปกติเด็กเหล่านี้จะดูดี แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่สบาย อ่อนเพลีย หรืออ่อนล้า ตาเหล่ก็จะเห็นชัดขึ้น แต่ถ้าอาการเป็นมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น ก็จะเห็นตาเหล่ตลอดเวลา ตาเหล่ในเด็ก สามารถแบ่งได้ตามชนิดของตาเหล่ ว่าเหล่ออกนอกหรือเข้าใน และจำนวนองศาของตาที่เหล่หรือความรุนแรง ถ้ารุนแรงมาก องศาจะมาก มักเห็นได้ง่าย โดยเห็นได้ชัดตั้งแต่เด็กเล็กหรือแรกคลอด และมักมีตาเหล่ตลอดเวลา ถ้ารุนแรงน้อย องศาจะน้อย เห็นได้ไม่ชัด ไม่แน่ใจ มักเห็นได้ตอนเด็กโต หรือตาเหล่ไม่ตลอดเวลา เป็นบางครั้งบางคราว มักจะเป็นมากเวลาอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า

ช่วงอายุที่มักพบว่าลูกมีตาเหล่ 

ตาเหล่ในเด็กพบได้บ่อยในช่วงอายุ 1 – 4 ปี ในเด็กที่มีตาเหล่เข้าใน ตาเหล่ชนิดนี้พบได้บ่อยในช่วงอายุ 2 – 3 ปีแรก โดยแรกๆ มักจะพบว่า ตาเหล่เป็นครั้งเป็นคราว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็จะพบว่ามีอาการเหล่ตลอดเวลา สาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากภาวะสายตายาว ส่วนตาเหล่ออกนอกมักจะพบในช่วงอายุที่กว้างกว่าคือช่วงอายุ 1 – 4 และที่พบบ่อยกว่าคือ มักจะตาเขบางครั้งบางคราวเท่านั้นอธิบายคือ ตาของเด็กทุกคนตอนแรกเกิดมักจะไม่ตรงกันเหมือนผู้ใหญ่หรือเด็กโต แต่จะเหล่หรือเหล่เล็กน้อยในตอนแรกเกิด โดยส่วนใหญ่จะเหล่ออกนอก แต่เมื่อเด็กนั้นอายุได้ 3 เดือนก็จะมองได้ตรงเป็นปกติ ดังนั้นในเด็กทุกคนที่มีอายุมากกว่า 3 เดือน ถ้าตรวจพบว่าตา 2 ข้างมองไม่ตรงก็จะบ่งบอกถึงความผิดปกติ  อย่างไรก็ตาม ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน แต่ถ้าตาเหล่มาก ๆ (ความจริงมีตัวเลข คือมากกว่า 15 องศา) ก็ถือว่าผิดปกติ แต่จะเป็นชนิดเหล่ออกนอกถ้าเด็กตาเหล่ตั้งแต่อายุน้อย ๆ เช่น ตั้งแต่อายุ  6 เดือน บ่งว่าภาวะนี้เป็นตั้งแต่เกิด ไม่ได้เกิดขึ้นมาใหม่ เกิดมาก็เป็นเลย แต่ถ้าอายุ 3 ขวบแล้วค่อยเป็น แสดงว่าตาเหล่นั้นเกิดขึ้นภายหลัง ดังนั้นอายุที่เริ่มเป็นจะบ่งบอกว่าเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้วหรือเกิดขึ้นภายหลัง และจะบ่งถึงสาเหตุที่ตามมา บ่งบอกถึงความรุนแรง วิธีการรักษา และโอกาสในการหายหรือไม่หายด้วยอย่างไรก็ดี ในเด็กเล็กเกิดปัญหาตาเหล่บางครั้งบางคราวได้ เด็กไม่จำเป็นต้องมีตาเหล่ตลอดเวลา 

การสังเกตในเด็กโต

ในเด็กโตหรือในวัยที่เข้าโรงเรียนแล้ว อยู่ดีๆ เกิดตาเหล่ขึ้นมา ควรต้องพบแพทย์ทางระบบประสาท แน่นอน แพทย์ควรต้องหาสาเหตุ ตรวจวินิจฉัยว่าทำไมเด็กถึงตาเหล่ เกิดจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ปัญหาทางระบบประสาท ก็แสดงว่าเกิดจากตาเหล่แน่นอนในเด็กโตหรือในผู้ใหญ่ ภาวะตาเหล่มักจะเกิดจากภาวะที่หลงเหลืออยู่ของภาวะตาเหล่ตั้งแต่ในเด็ก ที่น่าสนใจคือว่าในเด็กหรือผู้ใหญ่เหล่านี้ที่มีตาเหล่ มักพบว่า ตาเหล่นี้ กลไกของสมองในการทำให้เกิด การมองภาพ 3 มิติไม่สมบูรณ์ดี ซึ่งอาการเกิดจากการรักษาภาวะตาเหล่ในเด็กเล็กๆ ไม่ดี จึงทำให้เกิดอาการตาเหล่ซ้ำขึ้นและมากขึ้นตอนโตตาเหล่ในผู้ใหญ่หรือเด็กโต ถ้าเกิดภายหลังมักไม่ทำให้เกิดภาวะ ตาขี้เกียจ แต่ภาวะตาขี้เกียจที่หลงเหลืออยู่ในเด็ก มักจะทำให้เกิดตาเหล่ซ้ำตอนโต นั่นคืออีกหนึ่งเหตุผลที่ต้องให้ความสำคัญของตาเหล่ในเด็กเล็ก ตาเหล่ในผู้ใหญ่หรือเด็กโตถ้าเกิดภายหลัง แม้ว่าจะไม่ทำให้เกิดภาวะ ตาขี้เกียจ แต่จะทำให้สมองมองภาพ 2 ภาพตลอดเวลาเหลื่อมกัน ผลที่ตามมาคือ คนเหล่านี้จะปวดหัวมาก และเห็นภาพ 2 ภาพ

ตาเหล่จากสายตายาว

ตาเหล่ชนิดนี้พบบ่อยที่สุด คือตาเหล่เข้าในของเด็กอายุ 2 – 3 ปี แรกคลอดก็ดูปกติดี แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็มีอาการเริ่มเห็นชัด แรกๆ อาจเหล่บางครั้งบางคราว แต่ต่อมาก็เห็นชัดขึ้น แบบนี้คือตาเหล่ที่เกิดขึ้นภายหลัง สาเหตุหลักๆ เกิดจากตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างมีสายตายาว ทำให้ภาพที่ชัดเจนตกเลยจอภาพในลูกตาไป ภาวะนี้เราเรียกว่า ตาเหล่เข้าในจากภาวะสายตายาวในเด็ก พบบ่อยมาก ทำให้ต้องตาเหล่ คือ เพื่อที่จะให้ภาพที่ไม่ชัดตกที่ลูกตาให้ได้ ตาจะใช้ 2 กลไกการปรับตัว หนึ่งคือ การทำให้เลนส์นูนขึ้น ร่วมกับสอง ถ้าเลนส์นูนแล้วจะให้นูนมากขึ้น ตาจะต้องเหล่เข้าใน 2 ข้างอธิบายคือ สมองทำงานโดย 2 กลไก ตาข้างใดข้างหนึ่งเลนส์นูนขึ้นและเหล่เข้าใน ทำให้เกิดตาข้างนั้นเหล่เข้าใน ดังนั้น ถ้ามีสายตายาวสมองจะทำให้ตาเหล่เข้าในเพื่อช่วยภาพให้ชัดเจน
การรักษาควรต้องทำโดยจักษุแพทย์ คือใส่แว่นสายตายาวข้างที่มีปัญหา โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ภายหลัง 6 เดือนถ้าเด็กยังไม่สามารถมองภาพ 3 มิติได้ ควรต้องใช้การผ่าตัด ในรายที่เด็กเล็กมีตาเหล่เข้าใน แต่ไม่พบว่ามีสายตายาว ก็อาจต้องลงเอยด้วยการผ่าตัด ในรายที่จำเป็นต้องผ่าตัดควรจะรีบผ่าตัดให้เร็วที่สุด เพื่อส่งเสริมการมองภาพ 3 มิติให้ได้มากที่สุด

ตาเหล่ออกนอก 

ตาเหล่ออกนอกที่มีอาการบางครั้งบางคราว พบได้บ่อยมากพอๆ กับตาเหล่เข้าใน เด็กจะมีปัญหาเวลามองใกล้ๆ เวลามองไกลๆ อาจจะสังเกตไม่เห็น แต่ถ้าเมื่อไหร่มองภาพใกล้ๆ หรืออ่อนเพลีย เมื่อยล้าก็จะสังเกตว่าตาเหล่ออกนอกได้ชัดเจน เด็กจะใช้ตาด้านที่มองตรงๆ ได้ช่วยในการมอง ภาพจะชัดตลอดเวลา ซึ่งเราจะเรียกว่าตาด้านนี้ว่าตาหลักหรือ dominant eye มักพบว่า เด็กบางคนจะแก้ปัญหาให้ตัวเอง โดยมักจะใช้มือปิดตาข้างที่เหล่ออกนอกบ่อยๆ อนึ่ง ภาวะนี้เรามักพบว่าจะมีคนอื่นๆ ในครอบครัวที่อาจมีภาวะนี้ด้วยเช่นกัน
การรักษาอาจมีได้หลายรูปแบบ เช่น ปิดตา มักใช้ได้ผลในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี หวังผลเรื่องการป้องกันภาวะ amblyomia มากกว่าการรักษาโดยปิดตาข้างที่ปกติ วันละ 1 – 2 ชั่วโมง ส่วนการรักษาวิธีอื่นๆ เช่น การเสริมสร้างกลไก  ให้แข็งแรง หรือการฝึกลูกตาทำให้เกิดตาเหล่เข้าใน การใช้แว่นตาทำให้เด็กเกิดสายตายาว แล้วจะได้กระตุ้นกลไกอย่างไรก็ดี ถ้าการรักษาดังกล่าวไม่ได้ผล ก็คงต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดกล้ามเนื้อลูกตาในเด็กที่มีตาเหล่ออกนอกตลอดเวลา ถือว่าผิดปกติทุกราย เด็กเหล่านี้มักจะมีความผิดปกติของสมองที่มาควบคุมการกลอกลูกตา ไม่ใช่เกิดที่ตัวกล้ามเนื้อลูกตาเอง ดังนั้น ซึ่งไม่น่าแปลกใจ ถ้าจะพบภาวะนี้มากในเด็กที่มีปัญหาความพิการทางสมอง โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า  เด็กที่มีกระดูกใบหน้าผิดปกติ แน่นอนเด็กเหล่านี้ต้องรักษาด้วยวิธีทำการผ่าตัดกล้ามเนื้อลูกตาเท่านั้น

การรักษาตาเหล่ในเด็กเล็ก

ตาของเด็กแรกเกิดบางคนจะไม่ตรงกัน แต่เมื่อเด็กนั้นอายุได้ 3 เดือนก็จะมองได้ตรงเป็นปกติ ดังนั้นในเด็กทุกคนที่มีอายุมากกว่า 3 เดือน ถ้าตรวจพบว่าตา 2 ข้างมองไม่ตรง ก็แสดงว่าผิดปกติ ในเด็กเล็กน้อยกว่า 6 เดือน ถ้าพบว่าตาเขเข้าด้านในหรือออกด้านนอก แน่นอน ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในภายหลัง แต่มีมาตั้งแต่เกิดแล้ว และมักจะมีมุมหรือองศาของตาเหล่ ทำให้มองเห็นได้ง่ายตั้งแต่แรก ผู้ปกครองทุกท่านอย่ารอจนเด็กโต เด็กเหล่านี้มักไม่หายเองแน่นอน แล้วก็ไม่ใช่สายตายาวอย่างที่กล่าวข้างต้น ต้องพบกับจักษุแพทย์ให้เร็วที่สุด และควรต้องลงเอยด้วยการผ่าตัด


การผ่าตัดตั้งแต่อายุน้อยๆ ผลที่ได้จะดีกว่าการรอไปผ่าตัดตอนโต ผลคือเด็กจะมองภาพ 3 มิติได้ดีกว่า การผ่าตัดมักจะทำให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมลูกตาอ่อนหรือคลายตัวลง และในบางรายผู้ปกครองอาจจะต้องทำใจว่า เด็กอาจต้องได้รับการผ่าตัดหลายครั้งเพราะผลการผ่าตัดอาจออกมาได้ทั้งแก้ไขมากเกินไป หรือแก้ไขน้อยเกินไป ซึ่งเวลาที่เด็กโตขึ้น ก็อาจมีตาเหล่ออกนอกหรือเหล่เข้าในตามมาได้อีก

 

lazyeye

ภาวะตาขี้เกียจ

ตาขี้เกียจ คือ ภาวะที่ตามองไม่เห็น แม้ว่าระบบประสาทและลูกตาจะดูปกติดี ภาวะนี้คือผลของพัฒนาการที่ผิดปกติของสมองเด็ก ซึ่งเกิดจากสมองที่กำลังพัฒนาไม่ได้รับการกระตุ้นจากภาพที่เหมาะสม ในช่วงที่มีพัฒนาการคือแรกเกิดถึง 2 ปี ปัญหาอาจเกิดจากระบบการปรับภาพของลูกตาผิดปกติทำให้ภาพไม่ชัดหรือเกิดจากตาเหล่ หรือทั้ง 2 อย่าง
อาการอาจมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง รายที่มีอาการเล็กน้อยจะมองภาพไม่เป็น 3 มิติ คนบางคนอาจจะไม่ได้สังเกตด้วยซ้ำว่าตนเองมีอาการ การรักษาจะทำได้โดยการบังคับให้สมองพยายามใช้ภาพจากตาที่ไม่ชัด แล้วลดการใช้ภาพจากลูกตาที่ชัดลง สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดวิธีที่ใช้ในการรักษาหลายๆ วิธีตามมา เช่น อาจใช้วิธีปิดตาข้างที่ดี หรือการใช้ยาหยอดตาที่ทำให้กลไกของลูกตาในการปรับภาพให้ชัดเสียไป เช่น ยาหยอดตาที่มีสาร atropine ทำให้รูม่านตาขยาย  การมองภาพระยะใกล้ทำไม่ได้ ทำให้ภาพไม่ชัด หรือเด็กบางคนมีภาวะนี้เพราะมองภาพไม่ชัดเนื่องจากสายตายาว การรักษาก็เพียงแต่ใส่แว่นที่มีเลนส์สายตายาว นอกจากจะรักษาอาการตาเหล่แล้วยังแก้ไขภาวะสายตายาวอีกด้วย
แม้ว่าการเกิดตาขี้เกียจ มักจะพบในเด็กเล็ก แต่ในเด็กโตที่มีภาวะนี้ถ้าได้รับการรักษาก็สามารถทำให้อาการ ตาขี้เกียจดีขึ้นได้ การรักษาควรอยู่ในมือจักษุแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะการรักษาดังกล่าวอาจมีข้อเสียได้ เช่น การรักษาโดยไม่ใช้ตาข้างที่ดีนานเกินไป อาจทำให้ตาข้างที่ดีเกิดอาการแย่ลงตามมาได้

เหตุผลที่ต้องพาลูกมารักษาโดยเร็ว

เมื่อมีเด็กตาเหล่จำเป็นต้องให้ความสนใจดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป้าหมายหลักๆ 3 อย่างที่สำคัญที่สุด คือ เพื่อการป้องกันภาวะตาบอดจากภาวะ ตาขี้เกียจ ซึ่งสามารถป้องกันได้ เพื่อให้เด็กสามารถมองเห็นภาพ 3 มิติได้ดี และทำให้เด็กมีลูกตาที่มองตรงได้ ดูดีนั่นหมายความว่า ถ้าไม่ให้ความสนใจดูแลเป็นพิเศษ เด็กอาจสูญเสียการมองเห็นได้ เพราะคนเรามีตา 2 ข้าง ถ้าเด็กตาเหล่จะทำให้สมองเด็กเกิดเห็นภาพเป็น 2 ภาพ ภาพหนึ่งชัด และอีกภาพหนึ่งไม่ชัดจากตา 2 ข้าง สิ่งที่สมองของเด็กที่กำลังเจริญเติบโตจะจัดการกับภาพที่ไม่ชัดก็คือ สมองจะหยุดการทำงานในการแปลผลภาพที่ไม่ชัด ผลที่เกิดตามมาคือ ตาข้างที่มองภาพไม่ชัดจะมองไม่เห็นหรือตาบอดจากสมองไม่แปลผล

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. เด็กตับโต
2. โรคโลหิตจางในเด็ก
3. ลูกซีด

เรียบเรียงโดย  : Mamaexpert Editorial Team