พัฒนาการเด็กเล็ก รอบด้าน ที่คุณแม่ต้องติดตามตลอด1000วันแรกของชีวิต

13 October 2017
8829 view

พัฒนาการเด็กเล็ก 

เด็กวัย 0-3ปี เป็นวัยที่สำคัญที่สุดในการวางรากฐานสำคัญต่างๆในทุกๆด้าน เป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด คุณพ่อคุณแม่จึงต้องให้ความสำคัญและติดตามพร้อมทั้งกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย พัฒนาการทางด้านการช่วยเหลือตัวเองและสังคม พัฒนาการทางด้านอารมณ์และสติปัญญา พัฒนาการด้านภาษาและการพูดสื่อสารของลูกน้อย เพื่อการพัฒนาที่เหมาะสมของช่วงวัย จะทำให้การเลี้ยงดูในวัยต่อมาง่ายยิ่งขึ้นค่ะ

พัฒนาการเด็กเล็ก ทางด้านร่างกายของเด็กวัย 0-3 ปี

ในวัยนี้เป็นห้วงเวลาแห่งการค้นพบสิ่งใหม่ๆ เนื่องจากเด็กวัยหัดเดิน สำรวจโลกรอบตัวโดยใช้สองเท้านำทาง พัฒนาการรุดหน้าจากเดินเตาะแตะเป็นวิ่งอย่างคล่องแคล่ว แสดงทักษะความสามารถทางกายได้อย่างน่าทึ่ง ก้าวสำคัญของการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางร่างกาย ลูกวัยหัดเดินเติบโตทั้งความสูงและน้ำหนักอย่างต่อเนื่อง โดยมีพัฒนาการหลักๆ 2 กลุ่ม ดังนี้

พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่

พัฒนาการในส่วนของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ขา ร่างกายส่วนกลาง จะมีพัฒนาเป็นลำดับขั้นตอนโดยมีความต่อเนื่องกัน เช่น

  • จะชันคอ(1-3 เดือน) ได้ก่อนพลิกคว่ำ/หงาย (4-5 เดือน)
  • นั่งได้(5-7 เดือน) ก่อนที่จะคลานและเกาะยืน (7-9 เดือน)
  • เกาะเดิน (10 เดือน)ก่อนที่จะยืนเอง (12เดือน)
  • เดินได้เอง (12-15เดือน)ก่อนวิ่ง (18เดือน)
  • เกาะราวขึ้นบันไดหรือเตะบอล(19-21 เดือน) ก่อนเดินลงบันไดพร้อมเกาะราวหรือขว้างลูกบอล (2 ปี)

พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่จะพัฒนาได้มากยิ่งขึ้น ในช่วง 1-3 ปี จึงเป็นช่วงที่เหมาะกับการเสริมพัฒนาการให้ร่างกายของลูกน้อยแข็งแรง คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้มีพื้นที่ในการสำรวจสิ่งต่างๆกว้างขึ้น เล่นนอกบ้านหรือสถานที่ที่แปลกใหม่ ควรส่งเสริมให้ลูกมีโอกาสเคลื่อนไหว เช่น เดินได้ด้วยตัวเอง, ลาก/ถือของเล่นเอง, ปีนป่ายขึ้นลงบันไดโดยใช้มือเกาะราวบันไดเอง ให้ลูกได้ใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของตนเองตามวัยและควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกใช้รถหัดเดิน เพราะนอกจากไม่ได้ช่วยลูกให้เดินได้ด้วยตัวเองแต่กลับยิ่งทำให้มีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ล่าช้า เพราะลูกมักเดินด้วยปลายเท้า เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ (รถหัดเดิน ช่วยเด็กเดินเร็วจริงหรือ)

วิธีสังเกตว่าพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของลูกน้อยล่าช้าหรือเคลื่อนไหวผิดปกติ

ตัวอย่าง เช่น ลูกน้อยอายุ5 เดือนแล้วยังคอไม่แข็ง หรือมีพัฒนาการไวเกินไป เช่น พลิกคว่ำ/หงายได้ก่อนอายุ3 เดือน หรือมีความตึงตัวของกล้ามเนื้อน้อย เช่น รู้สึกว่าลูกตัวอ่อน หรือ มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อมากเกินไป เช่น ตัวเกร็ง อุ้มจัดท่าได้ยาก เวลาจับยืนแล้วปลายเท้าชอบจิกพื้น มีการถนัดของการใช้แขนขาข้างใดข้างหนึ่งก่อนอายุ18เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไปค่ะ

พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก

พัฒนาการในส่วนของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น แขนและนิ้วมือ จะเริ่มในช่วง 2-3 ปี จะพัฒนาได้ต้องอาศัยการมองเห็นเริ่มจากการเคลื่อนไหวของลูกตา จะมีพัฒนาเป็นลำดับ มีความต่อเนื่องกัน เช่น

  • ลูกอายุ 1 เดือน จ้องมองวัตถุที่ห่างจากใบหน้าประมาณ 8 นิ้วได้
  • อายุ 2 เดือน มองตามวัตถุผ่านแนวกึ่งกลางตัวได้
  • อายุ 4 เดือน พยายามคว้าสิ่งของ ของเล่นที่หลากสี หรือของเล่นที่มีเสียงกรุ๋งกริ๋ง
  • อายุ 6 เดือน เอื้อมมือหยิบของเล่น หยิบของชิ้นเล็กได้
  • อายุ 8เดือน ถือสิ่งของหรือของเล่นด้วยมือทั้งสองข้างได้
  • อายุ10 เดือน ถือก้อนไม้ 2 ก้อนเคาะกันได้
  • อายุ12 เดือน หยิบก้อนไม้ใส่ถ้วยได้
  • อายุ18 เดือน ขีดเส้นยุ่งๆ ได้
  • อายุปี ต่อก้อนไม้6ก้อนในแนวตั้ง หรือ4ก้อนในแนวนอนเป็นรถไฟได้ 

กิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก แขนและนิ้วมือได้ดี จะเป็น การขีดเขียนด้วยสี การพลิกกล่องเพื่อเทของออกมา  การต่อบล็อกสูงอย่างน้อย 4 ชิ้น  การพลิกเปิดหน้าหนังสือ เปิดประตู เปิดตู้ ลิ้นชัก และกล่อง การใช้กรรไกรตัดกระดาษ การใช้ช้อนตักอาหารป้อนตัวเอง ถือแก้วน้ำมือเดียว ใส่รองเท้าเอง (แต่ยังไม่สามารถผูกเชือกรองเท้าเองได้) ทั้งนี้การพัฒนาของกล้ามเนื้อมัดเล็กยังมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการด้านสติปัญญาของลูกน้อยด้วย

วิธีสังเกตว่าพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กล่าช้าผิดปกติ

ตัวอย่าง เช่น ลูกอายุ 3 เดือนแล้วยังกำมือตลอดเวลาอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท หรือลูกอายุ6เดือน แล้วยังไม่คว้าของหรือเอื้อมหยิบของ อาจบ่งถึงความผิดปกติของกล้ามเนื้อมัดเล็ก สายตา และ/หรือมีสติปัญญาบกพร่อง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบกุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไปค่ะ

พัฒนาการเด็กเล็กด้านการช่วยเหลือตัวเองและสังคมของเด็กวัย 0-3 ปี

การช่วยเหลือตัวเองของลูกน้อยวัยนี้ต้องอาศัยความสามารถของด้านต่างๆมาทำงานร่วมกัน ทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็ก ภาษาและการพูดสื่อสาร รวมทั้งสติปัญญาของเด็กด้วย คุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกและส่งเสริมให้ลูกช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด จนสามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว เพิ่มความภูมิใจในตนเอง และลูกจะปรับตัวอยู่ในสังคมได้ง่าย โดยอาจฝึกลูกน้อยผ่านกิจวัตรประจำวันง่ายๆ เน้นการฝึกช่วยเหลือตนเองตามวัย เช่น ฝึกให้ถือขวดนมเอง ฝึกให้หยิบขนมหรืออาหารชิ้นเล็กๆเข้าปากด้วยตัวเอง ถือแก้วน้ำดื่มน้ำเอง ถอดเสื้อผ้าเอง แปรงฟัน เก็บของเล่นเข้าที่ได้เอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้คำแนะนำและช่วยเหลือเล็กน้อย จนกว่าลูกจะสามารถทำได้ด้วยตัวเองอย่างคล่องแคล่ว ซึ่งหากลูกน้อยสามารถรับผิดชอบต่อตัวเองได้ ก็จะเป็นการทำให้ลูกน้อยมีความรับผิดชอบในเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะหน้าที่ความรับผิดชอบในการเรียนหนังสือ การเล่น รวมทั้งหน้าที่ต่อครอบครัว และสังคมในภายภาคหน้าด้วย ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความรักและเอาใจใส่ต่อลูกอย่างพอเหมาะ ไม่ตามใจมากจนเกินไป และชื่นชมเมื่อลูกน้อยมีความพยายามค่ะ

พัฒนาการเด็กเล็กด้านอารมณ์และสติปัญญาของเด็กวัย 0-3 ปี

พัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเด็กวัย 0-3 ปี

พื้นฐานทางอารมณ์ของทารกมีความแตกต่างระหว่างเด็กแต่ละคน เป็นผลมาจากพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมขณะที่อยู่ในครรภ์ส่งผลทำให้ทารกแรกเกิดการแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกัน พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กวัยเตาะแตะนี้ อารมณ์โกรธเป็นอารมณ์ที่พบได้บ่อย เนื่องจากเด็กมักใช้เป็นข้อเรียกร้องเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ อีกทั้งยังไม่สามารถสื่อสารเพื่อบอกความต้องการของตนเองได้ไม่ดีนัก จึงมีพฤติกรรมร้องอาละวาดในเด็กวัยนี้ รวมถึงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น กัด เตะ และทุบตีพ่อแม่ พี่น้อง หรือเด็กคนอื่น มักแสดงความรู้สึกอิจฉาและความเป็นเจ้าของ

เด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะและความต้องการแตกต่างกัน เด็กจะสามารถปรับตัวได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของพ่อแม่และพื้นฐานทางอารมณ์ของเด็ก ดังนั้นพ่อแม่ควรเข้าใจธรรมชาติของลูก ปรับตัวเข้าหา จะช่วยพัฒนาการของเด็กอายุ 0-3 ปี ทำให้การเลี้ยงดูมีความราบรื่นมากขึ้นยิ่งขึ้นค่ะ

พัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กวัย 0-3 ปี

พัฒนาการด้านสติปัญญาเป็นผลรวมของพัฒนาการในทุกๆด้าน เป็นผลของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่แรกเกิด การส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาจำเป็นต้องฝึกตั้งแต่แรกคลอด จะทำให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่เหมาะสมและมีความต่อเนื่องตามช่วงวัยค่ะ คุณพ่อคุณแม่ทุกบ้านต้องการให้ลูกฉลาด ควรส่งเสริมทักษะต่างๆให้เต็มที่ในทุกๆช่วงวัย เช่น การเล่น อ่านหนังสือ หรือร้องเพลง ฝึกฝนให้ช่วยเหลือตัวเองตามวัย จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี

เมื่อสังเกตว่าพัฒนาการด้านอารมณ์และสติปัญญาของลูกน้อยล่าช้าหรือผิดปกติ เช่น เด็กไม่แสดงอารมณ์หรือแสดงอารมณ์รุนแรงกว่าปกติ ร้องไห้อาละวาดรุนแรง ไม่ผูกพัน ไม่ติดแม่ หรือกลัวสิ่งต่างๆรุนแรงกว่าเด็กคนอื่น ไม่มีการพัฒนาทางด้านปัญญา ทำกิจกรรมต่างๆไม่ได้ตามเกณฑ์ของช่วงอายุ คุณพ่อคุณแม่ควรควรพาลูกไปปรึกษากุมารแพทย์เพื่อได้รับการตรวจประเมินอย่างละเอียดต่อไปค่ะ

พัฒนาการเด็กเล็กด้านภาษาและการพูดสื่อสารของเด็กวัย 0-3 ปี

ภาษาของเด็กนั้นสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยอาศัยการฟัง การตอบสนองของพ่อแม่ จะมีการพัฒนาตามลำดับของช่วงอายุ เด็กบางคนอาจพัฒนาได้เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการของครอบครัวลองมาดูตัวอย่างพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารของเด็กแต่ละช่วงวัยกันเลยค่ะ

พัฒนาการด้านภาษาของเด็กแรกเกิด -1 ปี

  • พึมพำ (มัม ป้อ หม่ำ)
  • เลียนแบบเสียงสิ่งต่างๆ (บรื๊นนน ซึ่งเป็นเสียงรถยนต์)

พัฒนาการด้านภาษาของเด็กอายุ 1-2 ปี

  • เริ่มชี้เรียกชื่อสิ่งของต่างๆ พูดคำเดี่ยวๆ สั้นๆ เช่น แมว นม ขอ หิว
  • จะมีการพูดหลายๆ คำ และผสมคำเข้าด้วยกัน เช่น หิวนม หาแม่
  • ฟังเรื่องเล่าสั้นๆ จากพ่อแม่
  • เข้าใจคำถามง่ายๆ เช่น พ่ออยู่ไหน หิวข้าวไหม 

พัฒนาการด้านภาษาของเด็กอายุ 2-3 ปี

  • เริ่มใช้ 3-5 คำ ต่อประโยค เช่น ไปกับแม่ หนูหิวนม
  • บอก สื่อสาร ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ เช่น กินข้าวอยู่ ดูทีวี
  • ถามคำถาม เช่น นมอยู่ไหน แม่ไปไหน
  • เข้าใจความหมายต่างๆของคำ เช่น ใหญ่ เล็ก ใน นอก ใต้

เด็กบางคนอาจมีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ ถ้าลูกใช้เวลาในการเรียนรู้การคลาน การเดิน การกินอาหารเหลวช้า ก็อาจทำให้พัฒนาการทางการพูดช้าไปด้วย แต่ถ้าลูกเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่บอก และสามารถทำตามคำแนะนำคือลูกสามารถชี้บอกได้ว่าต้องการอะไร แสดงว่าลูกอาจจะมีพัฒนาการทางการพูดช้าและมีความเป็นไปได้ที่จะมีพัฒนาการอย่างสมบูรณ์เมื่อโตขึ้น

แต่ในทางกลับกัน หากเด็กไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งที่พ่อแม่ขอให้ทำ และไม่สามารถเลียนแบบหรือจดจำเสียงต่างๆ ได้เลย และเวลาได้ยินเสียงดังๆ ลูกก็ไม่รู้สึกตกใจ คุณแม่ควรพาลูกไปรับการตรวจเช็คหูและประสาทรับฟัง ปัญหาการได้ยิน ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการทางด้านภาษาและการพูดสื่อสารค่ะ

การกระตุ้นพัฒนาการทางด้านภาษาและการพูดสื่อสาร ในกิจวัตรประจำวันคุณพ่อคุณแม่ควรพูดหรือร้องเพลงให้ลูกฟัง เช่น ขณะอาบน้ำ แต่งตัว หรือป้อนอาหาร การได้ใช้น้ำเสียงที่หลากหลายพร้อมทั้งการแสดงอารมณ์ออกทางสีหน้าและท่าทาง จะช่วยพัฒนาพื้นฐานการพูดของลูกน้อยได้เป็นอย่างดีค่ะ นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ สามารถช่วยส่งเสริมการฝึกฝนโดยการมอบรางวัลเมื่อลูกพูดคำใหม่ๆ ได้ หรือเอ่ยคำชม กอด จูบซักฟอดก็ได้ค่ะ

ในการพัฒนาการทางด้านต่างๆ ของลูกน้อยวัย 0-3 ปี คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญ เฝ้าติดตามพัฒนาการของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ ควรกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการในทุกๆด้านของลูกน้อยแต่ละช่วงวัย จะเป็นการปูพื้นฐานชีวิตให้ลูกน้อยที่เรารัก เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างดีต่อไป

Mama Expert สนับสนุนให้ทุกบ้านติดตามและส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยทุกช่วงวัยค่ะ

บทความแนะนำ

1. วิธีกระตุ้นพัฒนาการด้านการพูดของลูกน้อย

2. พัฒนาการลูกน้อย สร้างง่าย ๆ แต่ได้คุณภาพ

3. สร้างพัฒนาการความฉลาด ได้ด้วยธรรมชาติ

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.คู่มือสำหรับพ่อแม่เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก.วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/aGcqz8 .[ค้นคว้าเมื่อ 13 ตุลาคม 2560]