โรคหลอดลมอักเสบในเด็กถึงอาการไม่รุนแรง… แต่ก็ไม่ควรละเลย

21 September 2017
25579 view

โรคหลอดลมอักเสบในเด็ก

โรคหลอดลมอักเสบ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งเป็นท่อที่นำลม หรืออากาศที่หายใจเข้าสู่ปอด ทำให้เยื่อบุหลอดลมบวมและมีเสมหะอุดหลอดลม ทำให้มีอาการไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก อาจหายใจมีเสียงดังหวีดได้ อาจมีอาการเจ็บคอ แสบคอ หรือเจ็บหน้าอกได้ และอาจมีไข้ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว

ประเภทของโรคหลอดลมอักเสบในเด็ก

 

  1. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (acute bronchitis) มีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มักเป็นตามหลังไข้หวัด ซึ่งไม่ได้รับการรักษา หรือปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ทำให้การติดเชื้อลามลงไปถึงหลอดลม ถ้าเป็นหวัดแล้วมีอาการไอมีเสมหะเป็นระยะเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ อาจเป็นหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เมื่อมีอาการอักเสบของโพรงจมูก หรือเป็นหวัด ควรให้การรักษาเพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นหลอดลมอักเสบ
  2. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (chronic bronchitis) มีอาการเกิน 3 สัปดาห์ อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ [โรคหืด (asthma)] คือมีอาการไอมีเสมหะมากกว่า 3 เดือน/ปี เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้แก่ Streptococcus pneumoniae, Hemophilus influenzae, Moraxella catarrhalis ซึ่งอาจทำให้เสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเขียว

โรคหลอดลมอักเสบในเด็กเกิดจากสาเหตุใด

  1. เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ได้แก่ อะดิโนไวรัส ไรโนไวรัส ฟลูไวรัส
  2. เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มัยโคพลาสมา หรือ คลามัยเดีย
  3. เกิดจากการแพ้ หรือการระคายเคืองต่อสารบางอย่างที่สูดดมจนทำให้หลอดลมเกิดการอักเสบ เช่น ควันบุหรี่ เกสรดอกไม้ ฝุ่น เป็นต้น

อาการของโรคหลอดลมอักเสบในเด็ก

อาการของโรคหลอดลมอักเสบในเด็กจะมีอาการไอและมีเสมหะ อาการไอถือเป็นอาการที่สำคัญที่สุดของโรคนี้ เสมหะอาจจะมีสีเหลืองหรือเขียว น้ำมูกไหล แสบคอ อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วยก็ได้ ถ้ามีไข้ มักจะไม่มีไข้สูง บางรายจะมีอาการหายใจลำบาก หรือหายใจเสียงดังหวีด ครั่นเนื้อครั่นตัว หอบและเหนื่อย ที่สำคัญถ้าเด็กมีอาการไอและมีเสมหะเรื้อรังนานเกิน 7 วัน ต้องนึกถึงโรคหลอดลมอักเสบไว้ด้วย

การรักษาโรคหลอดลมอักเสบในเด็ก

  1. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆเพราะน้ำเป็นยาละลายเสมหะที่ดีที่สุด ไม่ดื่มและอาบน้ำเย็นหลีกเลี่ยงต่อสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อหลอดลม เลี่ยงอากาศเย็นโดยเฉพาะแอร์และพัดลมไม่ควรเป่าจ่อโดยตรง และควรห่มผ้าให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
  2. ผู้ป่วยเด็กไม่นิยมให้ทานยาแก้ไอ เพราะอาจทำให้เสมหะค้างในหลอดลมจนกลายเป็นโรคอื่นๆ ที่รุนแรงได้ เช่น โรคปอดอักเสบหรือโรคหลอดลมโป่งพอง
  3. ให้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม (ถ้ามีอาการหายใจดังวี้ดหรือหลอดลมตีบ)
  4. ให้ยาปฏิชีวนะ เฉพาะในรายที่มีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (เช่น หืด หลอดลมพอง) หรือไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียวเกิน 7 วัน
  5. ล้างเมือก(น้ำมูก)จากจมูกของเด็ก ใช้กระบอกฉีดยาเพื่อเอาเมือกออกจากจมูก

ทความแนะนำสำหรับคุณแม่

1. เด็กนอนหายใจเสียงดัง

2. ต่อมอะดีนอยด์โต ส่งผลลูกนอนกรนต้องระวังหยุดหายใจ!!!

3. ลูกนอนกรน รู้ทันปัญหา ก่อนพัฒนาการลูกจะเสื่อมถอย

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

  1. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ. นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ.“โรคหลอดลมอักเสบ”.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/eUcNLq .[ค้นคว้าเมื่อ 20 กันยายน 2560]
  2. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน.สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา.“เมื่อคุณหมอบอกว่าเป็นหลอดลมอักเสบ”.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/QMQzwr .[ค้นคว้าเมื่อ 20 กันยายน 2560]
  3. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. อ.นพ.ไพบูลย์ สุรีย์พงษ์.ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา.“หลอดลมอักเสบ เป็นอย่างไร”.เข้าถึงได้จาก http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=127 .[ค้นคว้าเมื่อ 20 กันยายน 2560]
  4. The Journal of Pediatrics; Volume 89, Issue 2, August 1976, Pages 220-224. “Esophageal reflux-an unrecognized cause of recurrent obstructive bronchitis in children”.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/nZLZRQ .[ค้นคว้าเมื่อ 20 กันยายน 2560]
  5. Drugscom. “Acute Bronchitis In Children”.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/kGK9VG .[ค้นคว้าเมื่อ 20 กันยายน 2560]