ลูกไอเสียงก้อง! เสี่ยงเสียชีวิต เพราะเป็น โรคครูปในเด็ก

20 September 2017
14587 view

โรคครูปในเด็ก

ครูป (Croup) หรือเรียกอีกอย่างว่า กล่องเสียงและหลอดลมอักเสบหรือบางท่านอาจเรียกว่า คอตีบเทียม เป็นการติดเชื้อไวรัสในเด็กที่มีการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและลำคอ) ลงไปถึงทางเดินหายใจส่วนกลาง (กล่องเสียง ท่อลม และหลอดลม) ทำให้มีอาการไอเสียงแหบห้าว มักเกิดในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนและ 3 ปี เป็นการติดเชื้อไวรัสในเด็กที่พบได้บ่อยที่สุดในช่วงฤดูหนาว

ทำไมโรคครูปในเด็กจึงเกิดบ่อยในฤดูหนาว

อาจจะเป็นเพราะว่าในฤดูหนาวอากาศแห้ง ความชื้นในอากาศมีน้อย เยื่อบุทางเดินหายใจจึงแห้งกว่าปกติ ทำให้ภูมิต้านทานโรคของทางเดินหายใจลดลง ยิ่งในเด็กเล็กแนวโน้มของการติดเชื้อจะเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าผู้ใหญ่

สาเหตุของการเกิดโรคครูปในเด็ก

โรคครูปในเด็กมีสาเหตุหลายอย่างเช่น

  1. เชื้อไวรัส พบได้บ่อยที่สุด มักพบในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี
  2. เชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อคอตีบ ที่ทำให้เป็นโรคคอตีบ,ฮีโมฟิลุสอิสฟลูเอนซา (Hemophilus influenza) ที่ทำให้เกิดโรคลิ้นกระบอกเสียงอักเสบเฉียบพลัน (Acute epiglottitis) ซึ่งพบมากในเด็กอายุ 3-7 ปี
  3. สิ่งแปลกปลอมอุดตันทางเดินหายใจ
  4. การแพ้ ซึ่งทำให้กล่องเสียงบวม
  5. ไม่ทราบสาเหตุ เช่น สปาสโมดิกครู้ป (spasmodic croup) ซึ่งพบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ มักมีประวัติว่ามีคนในครอบครัวเป็นด้วย

อาการของโรคครูปในเด็ก

อาการเด่นชัดที่สุดของโรคครูปก็คือ อาการไอแห้งๆ เสียงก้อง เสียงไอดังโฮ่งๆ เหมือนเสียงหมาเห่า หากได้ยินเสียงเพียงครั้งเดียวก็จะจำได้ติดหู เนื่องจากเป็นเสียงไอที่มีลักษณะเฉพาะจริงๆ นอกจากจะมีอาการไอแล้ว เด็กที่เป็นโรคครูปจะมีไข้ค่อนข้างสูง ส่วนมากมักสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส เสียงแหบ หายใจเสียงดัง ถ้าเป็นมากเด็กจะหายใจลำบาก อ่อนเพลียมาก และตัวเขียว

ระดับความรุนแรงของโรคครูปในเด็ก

  1. มีความรุนแรงน้อย ยังรับประทานอาหารได้ เล่นได้ ไอเสียงก้องบางครั้ง
  2. มีความรุนแรงปานกลาง ไอเสียงก้องเกือบตลอดเวลา หายใจเสียงดัง หายใจอกบุ๋ม
  3. มีความรุนแรงมาก ไอเสียงก้อง หายใจเสียงดัง หายใจอกบุ๋ม อ่อนเพลีย พักหลับได้แค่ช่วงสั้นๆ
  4. ระดับความรุนแรงแทรกซ้อน ถ้ามีเชื้อแบคทีเรียอักเสบแทรกซ้อน จะทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ เลือดเป็นพิษ มีหนองในช่องปอด เชื้ออาจแพร่กระจายทั่วร่างกายจะทำให้เกิดฝีตามอวัยวะต่างๆ ถ้าอาการรุนแรงมากอาจทำให้หายใจไม่ออก และเสียชีวิตเนื่องจากทางเดินหายใจอุดตันได้

การดูแลรักษาด้วยตัวเองเมื่อทราบว่าลูกเป็นโรคครูปในเด็ก

  1. เฝ้าดูอาการ 1-2 วันแรกอย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตอาการป้องกันไม่ให้ทางเดินหายใจอุดตัน
  2. ให้ลูกดื่มน้ำมากๆ เช่น น้ำเปล่า น้ำส้ม นม เป็นน้ำเย็นเล็กน้อย ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการบวมของกล่องเสียง
  3. ใช้ยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก หรือแอนติฮีสตามีน โดยศึกษาการใช้ยาในเด็กว่าใช้อย่างไรให้ปลอดภัยตามวัย เพื่อลดอาการบวมของกล่องเสียง หรือใช้น้ำอุ่นผสมมะนาวลดไข้
  4. วางอ่างน้ำไว้ข้าง ๆ เพื่อให้ได้รับความชื้นจากไอน้ำที่ระเหย

โรคครูปในเด็กสามารถสังเกตได้อย่างไร

  1. เมื่อลูกมีไข้สูง นอนไม่ได้ ต้องนั่งอยู่ตลอดเวลา หายใจเร็วและแรงหรือหายใจลำบาก (เด็กที่เป็นโรคครูปทุกคนจะหายใจเสียงดังแต่จะไม่มีอาการหายใจลำบากทุกคน)
  2. ตัวแดงเพราะพิษไข้จนตัวเขียว ให้พาไปหาหมอโดยเร็ว
  3. มีท่าหายใจแบบกระหายอากาศ ต้องพาไปหาหมอทันที
  4. ถ้ายังไม่แน่ใจว่าลูกเป็นโรคครูป ก็ควรจะพาไปหาหมอเช่นเดียวกัน เนื่องจากยังมีโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคครูปแต่เป็นโรคที่ร้ายแรงกว่ามาก คือ โรคคอตีบ

วิธีป้องกันการเกิดโรคครูปในเด็กเบื้องต้น

ไม่ควรให้สัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคหวัด ถ้ามีคนในบ้านเป็นหวัดให้ใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก และล้างมือทุกครั้งก่อนสัมผัสลูกน้อย หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด หลีกเลี่ยงการแบ่งอาหารและเครื่องดื่ม ถึงแม้ว่าจะไม่มีวัคซีนหรือยาใดที่สามารถป้องกันไม่ให้ลูกเป็นครูปได้ (ยกเว้นวัคซีนไข้หวัดใหญ่) แต่คุณอาจลดโอกาสที่ลูกของคุณจะเป็นโรคครูปได้

เรียบเรียงโดย : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

  1. บทความสุขภาพ.นพ.กิจการ จันทร์ดา.“Croup”. เข้าถึงได้จาก https://www.thaihealth.net/h/lexicon . [ค้นคว้าเมื่อ 19 กันยายน2560]
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 82 คอลัมน์: กลไกการเกิดโรค.พญ.ลลิตา ธีระศิริ “ครูป โรคของหน้าหนาว”.เข้าถึงได้จาก https://www.doctor.or.th/article/detail/6114 . [ค้นคว้าเมื่อ 19 กันยายน2560]
  3. Medicinenet.com.JOHN MERSCH, MD, FAAP.“Croup”.เข้าถึงได้จาก http://www.medicinenet.com/croup/article.htm .[ค้นคว้าเมื่อ 20 กันยายน2560]
  4. MSD MANUAL Professional Version.Rajeev Bhatia, MD, Assistant Professor of Pediatrics;Pediatric Pulmonologist, Northeast Ohio Medical University;Akron Children's Hospital.“Croup”.เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/W2PY7B .[ค้นคว้าเมื่อ 20 กันยายน2560]