ไข้อีดำอีแดง อันตรายต่อลูกน้อยอย่างไร อีกโรคฮิตที่คุณแม่ควรรู้

18 September 2017
7655 view

ไข้อีดำอีแดง

อีดำอีแดง หรือ ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ทำให้มีผื่นแดงขึ้นตามตัวร่วมกับทอนซิลอักเสบ พบได้บ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน แต่ในเด็กแรกเกิดจะพบโรคนี้ได้น้อย เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ได้รับจากแม่หลงเหลืออยู่ในร่างกายเด็ก ในปัจจุบันพบโรคนี้ได้น้อยลงมาก เนื่องจากผู้ป่วยมักได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

ไข้อีดำอีแดงเกิดจากเชื้ออะไร

เกิดจากเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สเตร็ปโตคอคคัส (streptococcus) ซึ่งส่วนใหญ่จะทำให้ต่อมทอนซิลเป็นหนองหรือผิวหนังเป็นตุ่มหนอง ไข้อีดำอีแดงจะเกิดเฉพาะในรายที่เชื้อสเตร็ปโตคอคคัสปล่อยพิษชนิดพิเศษออกมา ที่เรียกว่า อีริโทรเจนิค ท็อกซิน (Erythrogenic toxin) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ไพโรเจนิกเอกโซท็อกซิน (Pyrogenic exotoxin ชนิด A, B และ C) ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดผื่นในไข้อีดำอีแดง

ไข้อีดำอีแดงติดต่ออย่างไร

การแพร่ติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง เกิดขึ้นได้ง่าย เชื้อชนิดนี้จะมีอยู่ในน้ำลายและเสมหะ เกิดจากผู้ป่วย ไอจามรดโดยตรง หรือหายใจเอาฝอยละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย แต่บางรายอาจได้รับเชื้อทางอ้อม ผ่านทางมือ หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หนังสือ โทรศัพท์ ของเล่น เป็นต้น ระยะการฟักตัวของโรคตั้งแต่ได้รับเชื้อจนแสดงอาการจะใช้เวลาประมาณ 2-7 วัน

อาการเมื่อได้รับเชื้อไข้อีดำอีแดง

เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอมาก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนร่วมด้วย 1-2 วันหลังมีไข้จะมีผื่นแดง (erythema circumorol pallor) ขึ้นที่คอ หน้าอก และรักแร้ และกระจายไปตามลำตัวและแขนขาภายใน 24 ชั่วโมง ผื่นมีลักษณะคล้ายกระดาษทราย อาจมีอาการคัน ต่อมาผื่นจะปรากฏเด่นชัดอย่างมากในบริเวณร่องหรือรอยพับของผิวหนัง (erythematous puntifrom eruption) แล้วต่อมาในบริเวณเหล่านี้จะปรากฏเป็นจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง ซึ่งเรียงเป็นเส้น ที่เกิดจากการแตกของหลอดเลือดฝอย เรียกว่า เส้นพาสเตีย (Pastia’s lines) อาการผื่นจะเริ่มจางหายหลังขึ้นได้ 3-4 วัน หลังจากผื่นจางได้ประมาณ 1 สัปดาห์จะมีอาการลอกของผิวหนัง (Desquamation ) โดยมักเห็นได้เด่นชัดที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า ซึ่งอาจเห็นลอกเป็นแผ่น ส่วนตามลำตัวมักลอกเป็นขุยๆ อาการผิวหนังลอกเป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจลอกติดต่อกันนานถึง 6 สัปดาห์

จะรู้ได้อย่างไรว่าได้รับเชื้อไข้อีดำอีแดง

ผู้ป่วยมีไข้สูงมากกว่า 38.3 องศาเซลเซียส ทอนซิลบวมแดง อาจพบลิ้นที่ฝ้าขาวปกคลุมและมีตุ่มแดงยื่นขึ้นเป็นตุ่มๆ สลับคล้ายผลสตรอเบอร์รี่ เรียกว่า ลิ้นสตรอเบอร์รี่ขาว (white strawverry tongue) หากคลำต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอด้านหน้าหรือใต้ขากรรไกรจะบวมโต ลูกน้อยมักจะแสดงอาการเจ็บคอ หรืออาจมีอาเจียน ในวันที่ 2 หลังไข้จะมีผื่นแดงเรื่อๆ ขึ้นที่หน้า ในวันต่อมาจะมีผื่นขึ้นตามตัวคล้ายเม็ดทราย มักเป็นบริเวณข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ

การรักษาไข้อีดำอีแดง

ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส คือ ยาเพนนิซิลลิน-วี ครั้งละ 125 มิลลิกรัม ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 10 วัน แม้ว่าอาการจะหายไปก็ต้องใช้ยาต่อจนครบ 10 วัน เพราะถ้าให้ไม่ครบ 10 วัน จะฆ่าเชื้อไม่หมด อาจทำให้เกิดโรคไตหรือหัวใจรูห์มาติคติดตามมา

ผู้ป่วยที่อาการไม่มาก เช่น ไข้ต่ำๆ ตัวไม่ร้อนจัด และยังรับประทานได้ อาจไปพบแพทย์ที่คลิกนิก หรือขอรับยา และคำแนะนำจากเภสัชกรใกล้บ้าน และดูแลรักษาที่บ้าน ได้โดย...

  1. รับประทานยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ พาราเซตามอล และเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ ด้วยน้ำสะอาดไม่เย็น
  2. รับประทานอาหารอ่อน ๆ ดื่มน้ำให้มาก ๆ หรือดื่มน้ำหวานบ่อย ๆ
  3. ให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี

วิธีป้องกันไข้อีดำอีแดง

  1. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย หากมีความจำเป็นต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  3. ไม่ใช้สิ่งของร่วมกันผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า เครื่องนอน ผ้าเช็ดมือ แก้วน้ำ เป็นต้น
  4. ทั้งก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยหรือของใช้ของผู้ป่วย หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์อยู่เสมอและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการขยี้ตา แคะไชจมูก หรือปาก
  5. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการไอหรือจามรดใส่ผู้อื่น หรือใช้ทิชชูปิดจมูก ปาก ทุกครั้งที่ไอ จาม ทิ้งทิชชูลงในถังขยะที่มีฝาปิด แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำ และสบู่

บทความแนะนำเพิ่มเติม

1. ไข้อีสุกอีใสในเด็ก

2. รู้ลึกรู้จริงเรื่องวัคซีนอีสุกอีใส

3. ไรโนไวรัส Rhinovirus เชื้อก่อโรคทางเดินหายใจ แม่รู้หรือยัง ???

เรียบเรียงโดย  : Mamaexpert Editorial Team

อ้างอิง :

  1. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 35 คอลัมน์ : เด็กๆ..(ผู้ใหญ่ อ่านดี). “ไข้อีดำอีแดง”.  นพ.ปรีชา วิชิตพันธ์. เข้าถึงได้จาก https://www.doctor.or.th/article/detail/7217 [ค้นคว้าเมื่อ 15 กันยายน 2560].
  2. หาหมอดอทคอม. “ไข้อีดำอีแดง (Scarlet fever)”. ศ.พญ.อรุณี เจตศรีสุภาพ. เข้าถึงได้จาก https://goo.gl/5Nfqiw. [ค้นคว้าเมื่อ 15 กันยายน 2560].
  3. Mayo Clinic Health Letter. เข้าถึงได้จาก http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/scarlet-fever/basics/definition/con-20030976. [ค้นคว้าเมื่อ 16 กันยายน 2560].

ภาพจาก : https://www.bundoo.com/articles/scarlet-fever-in-infants-and-children/.[ค้นคว้าเมื่อ 16 กันยายน 2560].