ดูแลอย่างไร ไม่เกิดแผลเป็น

21 December 2016
5730 view

แผลเป็น คือ แผลที่หายแล้ว แต่ยังมีร่องรอยเหลือให้เราได้เห็น อาจเป็นร่องรอยขรุขระ เป็นหลุม เป็นตุ่มก้อนนูน หรือมีสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ไม่อยากมีแผลเป็น เพราะกังวลในเรื่องความสวยงาม อีกทั้งแผลเป็นยังเปรียบเสมือนสัญลักษณ์เตือนความทรงจำ ชวนให้ย้อนกลับไปนึกถึงความเจ็บปวดจากวันที่เกิดแผล

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดแผลเป็นนั้นมีหลากหลาย ไล่ตั้งแต่พันธุกรรม ตำแหน่งของแผล (แผลบริเวณที่ผิวตึง หรือมีการเคลื่อนไหวเยอะ จะมีโอกาสเกิดแผลเป็นมากกว่า) อายุ (อายุน้อย แผลจะหายดีกว่า) ลักษณะของแผล (แผลสกปรกหรือติดเชื้อ จะเสี่ยงเป็นแผลเป็นมากกว่า) ภาวะโภชนาการ และอื่นๆอีกหลายปัจจัย แต่หนึ่งในปัจจัยที่เราเลือกได้ และมีความสำคัญไม่น้อยคือ การดูแลแผล ซึ่งมีหลักการทั่วไปดังนี้

  • ป้องกันแผลติดเชื้อ โดยสำหรับแผลสดขนาดเล็ก ควรล้างด้วยน้ำเกลือให้สะอาด แล้วทายาปฏิชีวนะในรูปแบบขี้ผึ้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ส่วนแผลสดขนาดใหญ่ ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินแผล
  • ในระยะแผลตกสะเก็ด หมั่นทายาเพื่อป้องกันไม่ให้สะเก็ดแห้งและหลุดก่อนเวลาอันควร
  • สำหรับแผลที่ผ่านการเย็บปิดโดยแพทย์ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด ห้ามเกาหรือแกะบริเวณแผล และไปตัดไหมตรงตามเวลานัด หากไปตัดไหมช้าเกินกว่าเวลานัด จะเพิ่มโอกาสของแผลเป็นได้
  • เมื่อแผลปิดสนิทแล้ว (หากไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลแผลก่อน) เริ่มทายาที่มีส่วนประกอบของวิตามินเอ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการสร้างและจัดเรียงตัวของคอลลาเจน วิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญของผิว หรือในคนที่ผิวแพ้ง่าย อาจเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรธรรมชาติ อาทิเช่น คาโมไมล์ ,โรสแมรี่,ลาเวนเดอร์ เป็นต้น ซึ่งช่วยลดการอักเสบระคายเคืองและมีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออ่อนๆจากธรรมชาติ
  • เลือกยาทาแผลเป็นที่มีลักษณะเป็นน้ำมัน ซึ่งสารสำคัญในยาจะซึมเข้าสู่ผิวได้ดีและปกป้องผิวที่บอบบางช่วงหลังจากเกิดแผลได้มีประสิทธิภาพ
  • ทาครีมกันแดดบริเวณแผล เพื่อป้องกันรังสียูวีไม่ให้มากระตุ้นการสร้างเม็ดสี จนเกิดรอยดำบริเวณแผลเป็น
  • หากเป็นแผลในบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวมากเช่น แผงอก ท่อนแขน ท่อนขา เลี่ยงการออกกำลังแบบยกน้ำหนักซึ่งต้องใช้ร่างกายส่วนที่เป็นแผล เพราะการยืดตึงของผิวบริเวณนั้นจะกระตุ้นการเกิดแผลเป็นได้

ส่วนการรับประทานอาหาร สามารถรับประทานอาหารสุขภาพได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องงดการรับประทานไข่หรือเนื้อสัตว์ตามความเชื่อในอดีต เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว ร่างกายต้องการโปรตีนดีจากไข่และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ในการซ่อมแซมผิว

แต่สุดท้ายแล้ว ต้องทำใจว่า แม้จะดูแลแผลอย่างดีที่สุดแล้ว ในบางครั้งก็ยังไม่อาจป้องกันการเกิดแผลเป็นได้ และหากมีแผลเป็นเกิดขึ้นแล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาตั้งแต่ระยะต้นๆ โดยเฉพาะแผลนูนแดงหรือแผลคีลอยด์ เพราะหากปล่อยไว้นาน จะยิ่งส่งผลให้รักษายากขึ้น

แผลเป็นที่กาย ก็ไม่ต่างจากแผลเป็นที่ใจค่ะ ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องค่อยๆดูแลแผลกันไป สุดท้ายแล้ว แผลนั้นก็จะเป็นอีกหนึ่งบทเรียน ให้เรามีความระมัดระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น และเป็นเครื่องเตือนความทรงจำถึงคืนวันและคลื่นลมที่เคยสาดซัดเข้ามาแล้วก็ผ่านพ้นไป

พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (หมอผิง)
Twitter, Instagram: @thidakarn