เมื่อวันที่ 21 มีนาคม บนเฟสบุ๊คมีการเเชร์เรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่ไปล้างพิษ หรือทำดีท็อกซ์ที่สถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งจนเสียชีวิต พร้อมระบุด้วยว่า การล้างพิษหรือการดีท็อกซ์ มีอันตรายจากการขาดน้ำและการขาดแร่ธาตุ ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและหัวใจวายได้ อย่างฉับพลัน เเละได้เรียกร้องให้ กระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบหลักสูตรและผู้ที่สอนว่ามีคุณวุฒิและวิธีการที่ถูกต้องก่อนที่จะมีผู้เสียชีวิตไปมากกว่านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ใหความเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า การล้างพิษลำไส้ หรือดีท็อกซ์ ซึ่งเป็นศาสตร์หนึ่งของการแพทย์ทางเลือก กำลังกลายเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากกว่าพันล้านบาท โดยปัจจุบันศูนย์ล้างพิษลำไส้มีกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ และมีการจัดทำเป็นแพคเกจท่องเที่ยวแบบค้างคืนและบริการล้างพิษไปในตัว
“แม้ว่าวิธีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องผิด แต่การโหมโฆษณามากๆ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด รวมทั้งมีการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวจนเกินความจำเป็น ทั้งนี้ การสวนล้างลำไส้มักจะเป็นการสวนให้อุจจาระออกมาคราวละมากๆ เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการเกิดความรู้สึกว่าลำไส้สะอาด แต่ความจริงแล้ว การสวนลำไส้บ่อยๆ จะทำให้ลำไส้เกิดการบีบรัดตัวมากกว่าปกติ หากรุนแรง เสี่ยงทำให้ลำไส้ทะลุ ซึ่งอุบัติการณ์พบได้ประมาณ 1 ใน 4,000 ราย และการล้างลำไส้บ่อยๆ ยังทำให้สูญเสียแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะแบคทีเรียชนิดดีที่มีความจำเป็นกับระบบขับถ่ายและร่างกาย” ศ.นพ.ปิยะมิตรกล่าว และว่า หากต้องการล้างพิษสามารถทำด้วยวิธีธรรมชาติซึ่งปลอดภัยที่สุดคือ กินผักและผลไม้ เพราะเส้นใยอาหารจะช่วยในการขับถ่าย
ศ.นพ.ปิยะมิตรกล่าวอีกว่า ในการล้างพิษลำไส้ เมื่อทำประมาณ 3 ครั้ง จะทำให้รู้สึกติดในวิธีการดังกล่าว เพราะทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น แต่การกระตุ้นด้วยวิธีที่ไม่เป็นธรรมชาติมากเกินไป จะทำให้ร่างกายไม่สามารถขับถ่ายได้เอง และต้องอาศัยการทำดีท็อกซ์ไปตลอด ซึ่งก็ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิต จึงต้องมีการควบคุมให้ใช้ศาสตร์การแพทย์ทางเลือกอย่างถูกต้อง และไม่โฆษณาเกินจริง และว่า นอกจากนี้ยังพบโฆษณาการล้างพิษตับ ซึ่งไม่มีหลักฐานทางวิชาการว่าสามารถล้างพิษตับได้จริง เพราะจากการพิจารณาวิธีที่โฆษณา พบว่าสิ่งที่ใช้ในการล้างพิษคือ น้ำมันมะกอกและดีเกลือ ซึ่งดีเกลือนั้นมีคุณสมบัติช่วยในการขับถ่าย ส่วนน้ำมันมะกอก เมื่อกินเข้าไปและร่างกายดูดซึมไม่ทันก็จะขับถ่ายปนอุจจาระออกมา ทำให้ผู้ที่ทำการล้างพิษรู้สึกว่าสามารถล้างพิษตับได้ตามที่โฆษณา ซึ่งถือเป็นการสิ้นเปลือง
ที่มา : มติชนออนไลน์